#อำเภอเมืองเพชรบุรี
#เหรียญปั๊มพระพุทธที่ระลึกเปิดหอประชุมพรหมจารีรังสฤษฏิ์สนามชี พ.ศ. 2497
#หอประชุมพรหมจารีรังสฤษฏิ์ สนามชี วัดสนามพราหมณ์
ใน พ.ศ. 2453 ตรงกับปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต สมัยท่านพระอาจารย์รอด เป็นเจ้าอาวาสวัดสนามพราหมณ์ นายเทียนเส็ง แซ่จ๋อง พ่อค้าตลาดเพชรบุรี ซึ่งมีความคุ้นเคยกับ นายเอม เณราธึก ได้มาปรารภและชักชวนนายเอม ให้สร้างสถานที่อยู่ประพฤติพรหมจรรย์สำหรับสตรีขึ้นโดยเฉพะอีกแห่งหนึ่ง นายเอมก็เห็นดีเห็นชอบด้วย จึงพร้อมด้วยคนอื่น ๆ ที่จะนำให้สร้างสถานที่ดังกล่าวนั้น สืบเนื่องมาแต่ปกตินายเอม เป็นผู้สนใจฝักใฝ่ในธรรมปฏิบัติและจัดให้มีการประชุมสนทนาธรรม (สากัจฉา) ที่บ้านของตนเสมอ ๆ มาก่อน เพราะฉะนั้นเจตนาอันกุศลเดิมและคำปรารภชักชวนของนายเทียนเส็ง จึงสนับสนุนและจงใจให้นายเอม เณราธึก ดำเนินการสร้างสถานที่ประพฤพรหมจรรย์สำหรับสตรีใช้สำเร็จ นายเอมจึงได้ซื้อที่และได้มอบหมายให้นายคง บัวเพชร รับภาระติดต่อทางราชการขอซื้อที่ดินวัดร้าง (วัดค้างคาว) ซึ่งอยู่ติดวัดสนามพราหมณ์ บางส่วนเพื่อใช้สร้างสถานที่ประพฤติพรหมจรรย์ จากนั้นนายเอม ได้ไปเฝ้าทูลพฤติการณ์แด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ทรงทราบแล้วก็พอพระทัยยินดีส่งเสริมเป็นที่ปลาบปลื้มปิติแก่นายเอมและพวงพ้องผู้ร่วมกำลังความคิด กำลังกาย กำลังทรัพย์ เป็นอย่างล้นพ้น
ต่อมาใน พ.ศ. 2495 ศาลาไหว้พระสวดมนต์หลังเดิมที่นายเอม เณราธึก สร้างไว้มีความชำรุดทรุดโทรม คณะอุบาสิกามีอุบาสิกาไปล่และอุบาสิกาถมยา จีระพันธ์ เป็นหัวหน้าจัดการสร้างศาลาหลังใหม่ขึ้น ร่วมกับผู้มีศรัทธาบริจาคสบทบหลายท่านหลายคนจนสำเร็จเรียบร้อย แล้วทำการฉลองเปิดป้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2497 มีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จเป็นประธานในพิธีพร้อมฐานานุกรมศาลาใหม่ว่า “หอประชุมพรหมจารีรังสฤษฏิ์” โดยโอกาสเดียวกันนี้ทางมูลนิธิสนามชี เพชรบุรี ซึ่งมีการก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2476 ได้ทำการจัดสร้างวัตถุมงคลที่ระลึกขึ้น ลักษณะเป็นเหรียญพระพุทธปางมารวิชัย ทรงสามเหลี่ยมข้างเว้า ใต้พระพุทธระบุ “พ.ศ. ๒๔๙๗” ด้านหลังเป็นยันต์อะล้อมด้วยวงกลม มีข้อความระบุ “ที่ระลึกหอประชุมพรมหมจารีรังสฤษฎ์ สนามชี เพ็ชรบุรี”
#เหรียญปั๊มพระพุทธ ที่ระลึกเปิดหอประชุม พรหมจารีรังสฤษฏิ์ สนามชี วัดสนามพราหมณ์ มีการสร้างทั้งหมด 3 เนื้อ คือ
1. เข็มกลัดเนื้อเงินลงยา
2. เนื้อเงินลงยา
3. เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง