เหรียญปั๊มหลวงพ่อแฉ่ง วัดคงคาราม รุ่นแรก พ.ศ. 2493

11/10/2019 Admin

#อำเภอเมืองเพชรบุรี

#เหรียญปั๊มหลวงพ่อแฉ่ง วัดคงคาราม รุ่นแรก พ.ศ. 2493

ประวัติวัดคงคาราม คลิ๊กที่นี่

#พระครูใบฏีกาแฉ่ง หรือ หลวงพ่อแฉ่ง วัดคงคาราม นามเดิม แฉ่ง นามสกุล สะอิ้งแก้ว เกิดเมื่อวันอังคารที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2426 ชาติภูมิเดิม ณ บ้านละแวก ถนนบ้านแขก ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี โยมบิดามีอาชีพค้าขาย แต่มีความเชี่ยวชาญในวิชาแพทย์แผนโบราณ เมื่อครั้งเยาว์วัยบิดาได้พาไปฝากเป็นศิษย์พระครูสุวรรณมุนี (มี ตราภูมิ) วัดพระทรง เพื่ออยู่ศึกษาอักขระสมัยจนมีความสามารถในการอ่านเขียนอักขระเป็นอย่างดี จากนั้นจึงได้กลับมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำค้าขาย ครั้นพออายุได้ 21 ปี จึงได้อุปสมบทตามประเพณี ณ พัทธสีมาวัดพระทรง โดยพระครูสุวรรณมุนี (มี ตราภูมิ) วัดพระทรง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) วัดใหญ่สุวรรณาราม กับพระวินัยธร (เนย) วัดพระทรง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “ปุญฺญมาโค”

เมื่ออุปสมบทได้ 1 พรรษา ผ่านพ้นไปแล้ว ท่านได้เล็งเห็นการณ์ไกลว่าวิชาแพทย์แผนโบราณ มีคุณประโยชน์มากพอที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้จึงได้ศึกษาเล่าเรียนจากโยมบิดาจนมีความรู้ความสามารถ ท่านได้ใช้วิชาที่ได้ร่ำเรียนมาอนุเคราะห์ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยจนเป็นที่ยอมรับเชื่อถือของผู้คนในเมืองเพชบุรี ต่อมาในพรรษาที่ 5 ท่านได้ไปศึกษาด้านวิปัสสนาธุระในสำนักวัดคงคารามกับท่านพระครูสุวรรณมุนี (ฉุย) โดยท่านได้แนะนำหลวงพ่อแฉ่งให้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดคงคาราม เพื่อที่จะได้มีเวลาปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิด ดังนั้นในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 หลวงพ่อแฉ่งจึงได้กราบลาหลวงพ่อมีวัดพระทรงย้ายมาอยู่สำนักวัดคงคาราม ซึ่งเป็นสำนักสอนวิปัสสนากรรมฐานชื่อดังของเมืองพชรบุรีในยุคนั้น

 หลวงพ่อแฉ่งได้รับการยกย่องในเวลาต่อมาว่าเป็นผู้ทรงวิทยาคุณยิ่งกล่าวคือ ใน พ.ศ. 2481 ทางวัดราชบพิธฯ ได้จัดพิธีการกุศลครั้งยิ่งใหญ่เป็นงานเททองหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์และพิธีปลุกเสกวัตถุมงคล โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) เป็นประธานพิธีครั้งนั้น มีการนิมนต์พระเถราจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ จนทั่วทุกภาคของประเทศจำนวน 108 รูป และในจำนวนพระเถราจารย์ดังกล่าวนั้นมีพระอาจารย์แฉ่ง วัดคงคาราม ได้รับนิมนต์ให้มาเข้าร่วมพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลครั้งดังกล่าวนี้ด้วย

                ต่อมาเมื่อครั้งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมดิลก เจ้าคณะตรวจการภาค 7 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ได้พิจารณาผลงานที่ผ่านมาของหลวงพ่อแฉ่งรู้สึกพอใจและเพื่อเสริมสร้างกำลังใจ จึงได้แต่งตั้งให้ท่านเป็น “พระครูใบฎีกา” ในฐานานุกรม เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2497 อีก 2 เดือนต่อมา คือในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2497 พระใบฏีกา (แฉ่ง) ได้รับนิมนต์ไปงานฌาปนกิจญาติของท่านที่ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเสร็จงานแล้ว ท่านตั้งใจจะกลับวัดคงคาราม แต่เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดคิด ท่านมีอาการอาพาธเป็นไข้ปัจจุบัน ท่านพระครูญาณสาคร (แฉ่ง) วัดปากอ่าวบางตะบูน จึงช่วยปฐมพยาบาลด้วยตัวเอง อีกทั้งยังหาแพทย์แผนปัจจุบันมาตรวจอาการและรักษาจนมีอาการดีขึ้นมากแล้ว ท่านพระครูใบฏีกา (แฉ่ง) จึงได้สนทนากับท่านพระครูญาณสาคร (แฉ่ง) วัดปากอ่าวบางตะบูน ทำนองว่า “เหตุการณ์เจ็บป่วยไม่น่าบังเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นได้” แม้ว่าแพทย์แผนปัจจุบันบอกว่าอาการอาพาธคงจะหายเร็วเพราะที่วัดปากอ่าวบางตะบูนมีอากาศดี แต่หลวงพ่อแฉ่งเหมือนท่านจะรู้ถึงกาลมรณภาพ จึงกล่าวว่า “เรื่องของการตาย ไม่มีใครจะบอกได้ว่า ณ ที่ใดคือสถานที่ตายและจะตายในเวลาใด” จากนั้นจึงดำริจะกลับวัดคงคารามพร้อมสั่งให้พระเตรียมเรือไว้ เพื่อรอเวลาที่น้ำทะเลขึ้น ครั้นร่างกายของท่านรู้สึกเพลีย จึงขอตัวขึ้นไปพักที่กุฏิ ครั้นถึงเวลา 19.00 น. เป็นเวลาที่ช่วงน้ำทะเลขึ้น พระที่นำเรือไปส่งท่านเห็นผิดสังเกตที่ท่านไม่ยอมลงมาจากกุฏิ จึงได้ขึ้นไปดูท่าน ปรากฏว่าพระใบฎีกา (แฉ่ง) ได้มรณภาพลงด้วยอาการสงบ ยังความเศร้าโศกเสียใจมาสู่คณะศิษย์และผู้เคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง

#พระครูใบฎีกา (แฉ่ง ปุญฺญมาโค) หรือ หลวงพ่อแฉ่ง วัดคงคาราม เมื่อท่านอายุได้ 67 ปี ใน พ.ศ. 2493 คณะศิษยานุศิษย์ได้ขออนุญาตท่านจัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นพิเศษ เรียกว่า “เหรียญเล็ก” เพื่อใช้แจกผู้ที่เคารพนับถือท่านไว้คุ้มครองตัว ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมารูปหลวงพ่อแฉ่งครึ่งองค์ด้านหน้าระบุ “หลวงพ่อแฉ่ง ๒๔๙๓” ด้านหลังเป็นยันต์ใบพัด

#เหรียญปั๊ม หลวงพ่อแฉ่ง วัดคงคารามฯ รุ่นแรก มีทั้งหมด 5 แบบ คือ 1. เนื้อเงินลงยา 2. เนื้อเงิน 3. เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง 4. เนื้อทองแดงผิวไฟ 5. เนื้อทองแดง

Leave Comment
ค้นหา
close(x)
close(x)
close(x)