#อำเภอเขาย้อย
#เหรียญปั๊มหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก พ.ศ. 2491
#วัดห้วยโรง
เป็นวัดเก่าแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กันกับวัดวังมะนาว ปัจจุบันแทบไม่มีคนรู้จักนอกจากคนในพื้นที่ แต่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ได้แก่ ศาลาที่สร้างจากไม้ คล้ายเรือนไทย ป็นวัดมหานิกาย สร้างเมื่อ 26 เมษายน 2395 มีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน ปัจจุบันมีพระครูโสภณชัยวงศ์ เป็นเจ้าอาวาส
#หลวงพ่อหนึ่ง คํคสุวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยโรง เกิดพ.ศ.2415 ภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านห้วยโรงครอบครัวประกอบอาชีพทำนา เป็นบุตรคนโตในจำนวน 3 คนของนายหลำ จาบทอง และนางอินทร์ จาบทอง ในวัยเด็กได้ศึกษาร่ำเรียนวิชาที่วัดห้วยโรงจนอ่านออกเขียนได้ ครั้นมีอายุครบบวชได้อุปสมบท ณ วัดห้วยโรง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 มีหลวงพ่อสิน วัดปรกสุวรรณาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อร้าย วัดเขายี่สาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ส่วนพระอนุสาวนาจารย์นั้นกล่าวว่า เป็นหลวงพ่อวัดศรัทธาราษฎร์ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี แต่ในอำเภอปากท่อไม่มีวัดชื่อนี้ วัดศรัทธาราษฎร์อยู่ในอำเภอวัดเพลง ได้รับฉายาว่า “คํคสุวณฺโณ” เมื่อบวชแล้วก็ปฏิบัติสมณกิจอย่างเคร่งครัดศึกษาภาษาไทยและภาษาขอมและพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ครั้นเจ้าอาวาสมรณภาพลง จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยโรง ในปีพ.ศ.2450 ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลห้วยโรง และเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ.2458
วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2490 อายุ 75 ปี ท่านมรณภาพลงด้วยโรคชราในอาการสงบ ยังความเศร้าโศกมายังพระเณรญาติโยมพร้อมศิษยานุศิษย์งานศพท่านได้ตั้งเมรุไว้ 3 วัน 3 คืน มีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลมาร่วมงานศพของท่านมากเป็นประวัติการณ์ แสดงถึงคุณงามความดีที่แผ่ขจายไปทั่วทุกทิศ และประชุมเพลิงในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2491
กล่าวกันว่าท่านมีวาจาสิทธิ์ พูดอย่างไรจะเป็นอย่างนั้น ได้ปลุกเสกวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังไว้มากมาย อาทิ ผ้าเช็ดหน้านะเมตตามหานิยม ตะกรุดโทน ตะกรุดชุด 9 ดอก ตะกรุดชุด 7 ดอก ตะกรุดชุด 4 ดอก พระนามปี (ด้านหน้าเป็นรูปพระ ด้านหลังเป็นรูปนักษัตรปีต่างๆครบ 12 ปี) แหวนทองเหลือง เสื้อยันต์ ลูกอม (ทำด้วยใบโพธิ์ผสมรัก บรรจุกระดาษลงยันต์ข้างใน)
สำหรับลูกศิษย์ลูกหาของท่าน โดยเฉพาะผู้ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงท่านยังมีชีวิตอยู่ ที่จดจำกันได้เป็นอย่างดีของ ‘เด็กวัด’ ผู้ที่อยู่ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา สงครามโลกครั้งที่ 2 ล้วนจำเรื่องราวของ ‘จีวร’ ของหลวงพ่อหนึ่งได้อย่างแม่นยำ จีวรที่บรรดาเด็กวัดทั้งหลายได้นำมาสวมใส่แทนเสื้อผ้า อีกทั้งยังเป็นเสื้อผ้าที่หลวงพ่อหนึ่งเย็บขึ้นมาเองด้วยตัวท่าน ส่วนตัวหลวงพ่อหนึ่งนั้นห่มจีวรเก่าขาดปะแล้วปะอีก เหมือนที่ลูกศิษย์คนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า
“เป็นตัวเป็นตนมาถึงทุกวันนี้ ก็ด้วยข้าวก้นบาตรและผ้าเหลืองที่หลวงพ่อตัดเสื้อให้นี่แหละ จะหาใครมีน้ำใจเหมือนท่านไม่มีแล้ว จีวรของท่านดีๆ ท่านเอามาตัดเป็นเสื้อผ้าให้ศิษย์หมด ท่านเองครองแต่จีวรเก่าปะขาดแล้วขาดอีก”
นี่คือ ‘เมตตา’ ของหลวงพ่อหนึ่ง แห่งวัดห้วยโรง
เมื่อหลวงพ่อหนึ่งได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดห้วยโรงเมื่อปี พ.ศ. 2450 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดเมื่อปี พ.ศ. 2458 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อหนึ่งไม่เคยสร้างพระเครื่อง โดยเฉพาะรูปเหมือนของท่าน และท่านเคยกล่าวไว้ว่า ฉันไม่ขายรูปฉันกิน แต่ท่านก็ได้สร้างวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังเอาไว้หลากแบบ โดยเริ่มสร้างเมื่อหลวงพ่อหนึ่งมีอายุได้กว่า 60 ปีแล้ว
แรกเริ่มนั้นมีลูกศิษย์ได้พูดคุยถึงความสงสัยกันว่า ทำไมจึงมีผู้ใหญ่จากต่างถิ่นมาหาหลวงพ่อหนึ่ง ซึ่งล้วนเป็นขุนนางข้าราชการทั้งนั้น หลวงพ่อหนึ่งมีของดีอะไรพวกเราคงต้องได้ยินมาบ้าง ความสงสัยของลูกศิษย์ได้ยินไปถึงหลวงพ่อหนึ่ง วัดหนึ่งได้พบปะกับผู้ใหญ่บ้านห้วยโรง หลวงพ่อหนึ่งจึงได้พูดกับผู้ใหญ่บ้านเป็นปริศนาว่า
“วัดเรามีต้นโพธิ์ใหญ่ ลูกดกแต่นกบ้านเราไม่เห็น มีแต่นกบ้านอื่นมาหากินเต็มไปหมด”
ผู้ใหญ่บ้านครุ่นคิดถึงปริศนาที่หลวงพ่อกล่าวไว้ วันหนึ่งจึงได้นำแผ่นทองไปให้หลวงพ่อหนึ่งลงอักขระเลขยันต์ แล้วนำไปลองยิงดู ปรากฏว่าปืนหาลั่นไม่ ทดลองจนแน่ใจแล้วจึงได้บอกกล่าวกับบรรดาชาวบ้าน นับแต่นั้นมาบรรดาลูกศิษย์ก้พากันมาขอของดีกันเป็นแถว
เครื่องรางของขลังที่หลวงพ่อหนึ่งสร้างขึ้นมา เช่น ลูกอม ทำด้วยใบโพธิ์แห้งเผาไฟ นำมาผสมกับผงวิเศษ และรัก ภายในบรรจุกระดาษสาลงอักขระ ตะกรุดโทน ตะกรุดจัตตุโร (หนึ่งชุดมี 4 ดอก) ตะกรุดสัตตดี (หนึ่งชุดมี 7 ดอก) ตะกรุดนวโลกุตระ (หนึ่งชุดมี 9 ดอก) ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ ผ้าประเจียด และมงคลสวมคอ
ต่อมาเมื่อหลวงพ่อหนึ่งมรณภาพลงเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 สิริรวมอายุได้ 75 ปี พรรษา 55
พระอธิการนิ่ม จนฺทสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดห้วยโรงรูปต่อมา ได้ดำเนินการจัดสร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อหนึ่งขึ้นมา เพื่อเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพของท่านเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2491 พร้อมจัดงานถึง 3 วัน 3 คืน มีทั้งมหรสพและการละเล่นต่างๆ มีบันทึกในการจัดงานครั้งนั้นว่า ข้าวสารที่ใช้ในโรงทานทั้งถวายพระภิกษุสามเณร และผู้ที่มาร่วมงาน 3 วัน 3 คืน ใช้ไปรวมทั้งสิ้น 480 ถัง
#เหรียญปั๊มหลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง รุ่นแรก พ.ศ. 2491
เป็นเหรียญปั๊มรูปเสมา แบบมีหูในตัว เนื้อทองแดง
ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อหนึ่งครึ่งรูปหน้าตรง ด้านล่างรูปเหมือนมีอักษรไทยว่า ‘หลวงพ่อหนึ่ง วัดห้วยโรง’ และด้านบนเหรียญว่า ‘พ.ศ. ๒๔๙๑’
ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ เหนือยันต์ห้าเป็นยันต์องค์พระ 3 องค์ ขึ้นยอดเป็นอุณาโลม เหนือขึ้นไปเป็นอักขระขอม 4 ตัว อ่านได้ว่า ‘พุท ธะ สัง มิ’ ส่วนอักขระใต้ยันต์ห้าเป็นคาถาคงกระพันชาตรี อ่านได้ว่า ‘อิติปิอรหัง อุดทังอัดโท โทอุดทังอัด นึ มึ พึง หึ’
ในการสร้างเหรียญดังกล่าวนี้ เมื่อปั๊มเสร็จเรียบร้อยแล้ว เกิดเกรงว่าจะมีจำนวนเหรียญไม่พอแจก จึงได้นำแม่พิมพ์ปั๊มขึ้นใหม่อีก หากแต่แม่พิมพ์ด้านหลังเกิดร้าวจึงได้แกะบล็อกหลังขึ้นมาใหม่ จึงทำให้เกิดมี 2 พิมพ์ขึ้น มีลักษณะพื้นหลังไม่แอ่นเป็นกระทะเหมือนในบล็อกแรก และตรงปลายหายันต์ตรงกลางยันต์ห้าปลายยอดหางจะเลยทะลุเส้นขอบยันต์
ส่วนในบล็อกหลังบล็อกแรกนั้นปลายหางจะไปชนขอบยันต์เท่านั้น และสังเกตตัวอุณาโลมใต้อักขระขอม ‘พุท ธัง สัง มิ’ ตัวแรกซึ่งอยู่ใต้ตัว ลพุท’ ปลายหางจะชนกับตัวอักขระขอม นั้นเป็นบล็อกหลังบล็อกแรก
แม้ในแวดวงจะยึดเป็น ‘เหรียญตาย’ ทว่าในด้านคุณค่าไม่น้อยเลย