เหรียญปั๊มหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ รุ่นแรก พ.ศ. 2496

14/10/2019 Admin

#อำเภอเขาย้อย

#เหรียญปั๊มหลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ รุ่นแรก พ.ศ. 2496

#วัดกุฏิ บางเค็ม

ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จ.เพชรบุรี ตามทางหลวงหมายเลข 4 ก่อนถึงทางเข้าที่ว่าการอำเภอเขาย้อย 6 กิโลเมตร (หากมาจากกรุงเทพฯอยู่ด้านซ้ายมือ) เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดเพชรบุรี พระอุโบสถสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง รอบพระอุโบสถด้านนอกสลักเป็นเรื่องทศชาติ มหาชาติ และไซอิ๋ว หน้าบันโบสถ์ทิศตะวันออก แกะสลักเป็นเหรียญตรามงกุฎ สมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนด้านหลังทางทิศตะวันตก แกะสลักเป็นรูปเหรียญกษาปณ์ ราคา 1 บาท พร้อมตราแผ่นดินรัชกาลที่ 5 บานประตูเป็นลายเถาทะลุโปร่ง แกะสลักลายลึก ฝีมือประณีตด้วยฝีมือช่างชั้นครู

พระอุโบสถวัดกุฏิ การเดินทางมายังวัดกุฏินั้นไม่ยากมากนัก แค่เพียงสังเกตุข้างซ้ายมือถนนเพชรเกษมในระหว่างที่จะมุ่งหน้าไปเพชรบุรี ซุ้มประตูวัดกุฏิ เป็นซุ้มขนาดใหญ่อยู่ใกล้ๆ เชิงสะพาน พอเลี้ยวเข้าซอยแล้วจะเป็นทางเล็กๆ ไปเรื่อยๆ ผ่านหมู่บ้านและตรงไปยังวัดกุฏิ พระอุโบสถซึ่งเป็นจุดเด่นอย่างยิ่งของวัดกุฏิ และจุดเด่นอันนี้ก็หาชมยากยิ่งในวัดอื่นๆ เพราะเป็นพระอุโบสถไม้สักทั้งหลังซึ่งคงจะมีอยู่เพียงไม่กี่วัดในประเทศไทย

ขนาดของพระอุโบสถไม้สักหลังนี้ใหญ่พอสมควรครับหลังคาสร้างลดชั้นอย่างง่ายๆ เสาไม้แบบเสาสอบ ด้านบนแคบกว่าฐานเสา เป็นการสร้างพระอุโบสถที่ได้รับความนิยมมากแบบหนึ่งเพราะจะแข็งแรงกว่าแบบเสาตั้งตรงธรรมดา แม้ว่าจะใช้เสาปูนก็มีหลายวัดที่สร้างแบบเสาสอบ

ประวัติอุโบสถไม้สักวัดกุฏิ

เป็นพระอุโบสถหลังเก่าที่พระครูเกษม สุตคุณ (หลวงพ่อชุ่ม) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2479 ผนังโบสถ์แกะสลักโดยรอบทั้งหมด 20 แผง แต่ละแผงแกะสลักเรื่องราวชาดกในตอนต่างๆ ได้แก่ มหาชาติชาดก 13 กัณฑ์ ทศชาติชาดก ตอนพระจันทกุมาร พระพรหมนาถ พระเตมีย์ใบ้ พระภูริทัต พระเนมิราช และสุวรรณสาม แล้วยังได้สลักเรื่องไซอิ๋วไว้ด้วย

#หลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ หรือ พระครูเกษมสุตคุณ(ชุ่ม เขโม)วัดกุฏิ

พระครูเกษมสุตคุณ นามเดิม ชุ่ม นามสกุล ปุตนิมิต  เกิดเมื่อวันที่  2  สิงหาคม  พ.ศ.2417 ณ ตำบลบ้านกุ่ม 

อำเภอเมือง  จังหวัดเพชรบุรี กำพร้าบิดาตั้งแต่เล็ก  เมื่ออายุครบ 12 ขวบ  ได้มาอาศัยอยู่ที่วัดกุฏิ  บ้านกุ่มและศึกษาเล่าเรียนจนอ่านออกเขียนได้  เมื่ออายุครบ 20 ปี  ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ที่วัดกุฏิโดยมี พระสุวรรณมุนี(ฉุย)  วัดคงคาราม  เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการนิล วัดกุฏิ บ้านกุ่ม  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระอาจารย์ตุ้ม วัดกุฏิ บ้านกุ่ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ครั้นอุปสมบทได้ 8 พรรษาจึงลาสิกขา ออกมามีครอบครัวอยู่ที่บ้านนามอญ  อำเภอเมือง  จังหวัดเพชรบุรี  มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อ ทุเรียน  ต่อมาภรรยาตั้งครรภ์คนที่2 แต่คลอดยาก  ภรรยาได้พูดกับนายชุ่มว่า”คราวนี้ฉันจิตใจไม่ใคร่ดี ถ้าฉันตายในคราวนี้ ช่วยบวชให้ฉันด้วย อย่าสึกให้บวชเรื่อยไป”   นายชุ่มรับปากจะบวชให้  ต่อมาไม่นานภรรยานายชุ่มถึงแก่กรรมลงเมื่อจัดงานฌาปนกิจภรรยาเสร็จเป็นที่เรียบร้อย  ในปีเดียวกันนายชุ่ม  จึงขออุปสมบทเป็นครั้งที่2 ตามที่ได้รับคำไว้กับภรรยา  โดยมีพระปลัดจันทร์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการอาสน์  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ณ  พัทธสีมา  วัดโพธิ์  ตำบลบางเค็ม  อำเภอเขาย้อย  จังหวัดเพชรบุรี  เมื่อวันที่ 6 เมษายน  พ.ศ.2450 เมื่อบวชแล้วจึงได้ลากลับไปจำพรรษาที่วัดกุฏิ  บ้านกุ่ม  ตามภูมลำเนาเดิม

ใน พ.ศ.2459  พระอธิการแฉ่ง วัดกุฏิ บางเค็ม ได้ลาสิกขา ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง  เหล่าทายกทายิกาจึงพร้อมใจกันไปนิมนต์หลวงพ่อชุ่มให้มาเป็นเจ้าอาวาส วัดกุฏิ บางเค็ม แต่ท่านได้ปฏิเสธ จึงต้องนิมนต์ถึง 3 ครั้งท่านจึงยินยอมมาเป็น        เจ้าอาวาส ซึ่งขนาดนั้นวัดกุฏิ  มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก หลวงพ่อชุ่มได้ออกแบบสร้างอุโบสถเองใหม่ทั้งหมด  โดยในขณะนั้นท่านมีปัจจัยอยู่ 80 ชั่ง  เพื่อใช้ในการปรับปรุงเสนาสนะต่างๆ  หลวงพ่อชุ่มพร้อมคณะสงฆ์และช่างไม้จำนวนหนึ่งได้เดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์เพื่อหาไม้มาปรับปรุงวัด ได้ไม้สักและไม้มะค่าเป็นซุงท่อนใหญ่  จากนั้นท่านและคณะจึงนำไม้ซุงไปลงแพชักล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา  ระหว่างทางมีคนขอซื้อท่านก็ขายไปจนหมด  ได้ปัจจัยมาจำนวนหนึ่งหลวงพ่อชุ่มและคณะก็เดินทางขึ้นไปหาซื้อไม้ใหม่ โดยขึ้นไปไกลกว่าเดิม แล้วท่านก็ชักล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีคนมาขอซื้ออีก ทำเช่นนี้ 3 เที่ยว  ได้ปัจจัยมาจำนวนมาก ในเที่ยวที่ 4 คราวนี้ท่านได้ซื้อไม้สัก    ไม้มะค่าที่มีขนาดใหญ่และยาวมากกว่าเดิม  ทำแพชักล่องลงมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา  ใครมาถามซื้อท่านก็ปฏิเสธไม่ขาย  ล่องผ่านทางแม่น้ำท่าจีนจนถึงปากอ่าวแม่กลอง  แล้วเข้ามาทางคลองยี่สารและบางตะบูนจนถึงคลองบางเค็ม  โดยนำไม้มาขึ้นที่ท่าน้ำข้างวัดกุฏิ  นำไม้สักทั้งหมดมาทำเรือนอุโบสถและไม้มะค่ามาทำเสาอุโบสถ  จนแล้วเสร็จใน  พ.ศ.2473  อุโบสถหลังนี้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ผนังภายนอกซุ้มประตู  หน้าต่าง  หน้าบัน  แกะสลัดลวดลายด้วยไม้สัก  โดยช่างพื้นบ้านเพชรบุรีทั้งสิ้น  ปัจจุบันได้รับการจดทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถานของชาติ

หลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ บางเค็ม

ท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม หลวงพ่อแฉ่ง วัดกุฏิ และหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
เป็นพระอาจารย์ของ หลวงพ่อตัด วัดชายนา หลวงปู่หนู วัดทุ่งแหลม หลวงพ่อช่อ วัดโคกเกตุ

เมื่อหลวงพ่อชุ่มเข้าสู่วัยชราภาพในพ.ศ.2505 ระหว่างที่ท่านกำลังสรงน้ำในห้องน้ำ เกิดลื่นล้มจนอาพาธ  คณะศิษย์ช่วยกันรักษาประคับประคองอาการ จนกระทั่งวันที่ 9 ธันวาคม  พ.ศ.2505  ท่านจึงได้มรณภาพลง  สิริอายุ 88 ปี  พรรษา  57

Leave Comment
ค้นหา
close(x)
close(x)
close(x)