“วัดใหญ่สุวรรณาราม”!!! วัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา บันทึกราวเรื่องประวัติศาสตร์

19/11/2019 Admin

วัดใหญ่สุวรรณาราม

เป็นวัดเก่าทรงคุณค่าของจังหวัดเพชรบุรีอีกแห่งหนึ่ง มีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับยุคกรุงศรีอยุธยา สมกับที่เพชรบุรีเคยเป็นเมืองหน้าด่านสมัยโบราณ วัดเก่าแห่งนี้ว่ากันว่ามีอายุมากกว่า 300 ปี

“วัดใหญ่สุวรรณาราม” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “วัดใหญ่” เดิมมีชื่อว่า “วัดน้อยปักษ์ใต้” โดยสันนิษฐานว่าเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังจะเห็นได้จากหลักฐานตามพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไว้ว่า “ภาพและลายในพระอุโบสถนี้คงเขียนมาก่อน 300 ปีขึ้นไป…”

สำหรับชื่อว่าที่ชื่อ “ใหญ่” เข้าใจว่าเนื่องจากมีพื้นที่ถึง 20 ไร่เศษ ส่วนคำว่า “สุวรรณ” น่าจะได้จากพระนามของสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ซึ่งเดิมท่านชื่อทอง หรือจะเป็นามฉายาของท่านว่า สุวณฺณ ด็วยก็เป็นได้ เพราะท่านได้มาปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญให้แก่วัดแห่งนี้อันเป็นสถานศึกษาเดิมของท่าน วัดนี้จึงชื่อว่า “วัดใหญ่สุวรรณาราม” แต่นั้นเป็นต้นมา

วัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิสังขรณ์อยู่หลายครั้ง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ มีการสร้างเสนาสนะอย่างอื่นอีกมาก เช่น สร้างพระระเบียงคดรอบพระอุโบสถ สร้างหอสวดมนต์ ปรับปรุงกุฏิสงฆ์ ศาลาคู่ หอระฆัง และสร้างกำแพงรอบวัดพร้อมซุ่มประตู สระน้ำ ที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน

ศาลาการเปรียญไม้สัก

จากอดีตเป็นตำหนักของพระเจ้าเสือ เมื่อมีการรื้อและนำมาไว้ที่วัดแห่งนี้บานประตูแกะสลักที่มีความงดงาม แต่จะเห็นว่ามีร่องรอยแตก ที่ตามประวัติเล่าว่า ทหารพม่าใช้ขวานจามเพื่อจะจับคนข้างใน ด้านบนสุดจะเป็นช่องโบ๋ยาวพอสมควร แต่ความยาวทั้งหมดที่เป็นรอยนั้นไล่ลงมาเกือบถึงประมาณเอวคนเลย นั่นคือหลักฐานด้านหน้า แต่พอเข้าไปดูด้านในจะพบว่า ประตูของศาลาแห่งนี้มีการดามไม้เอาไว้ กันประตูหลุด แสดงให้เห็นว่าความเสียหายนั้นไม่น้อย

ภายในศาลาการเปรียญมีเสาแปดเหลี่ยมเขียนลายรดน้ำ ส่วนที่ฝาผนังและบนบานหน้าต่างก็มีภาพเขียนลายน้ำกาว ที่ยังสามารถมองเห็นได้จนถึงปัจจุบัน มีธรรมาสน์ฝีมืองดงามอยู่ 2 หลัง หลังเก่ามีมาพร้อมกับศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นไม้จำหลักทรงบุษบก อีกหลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ลงรักปิดทองใหม่ และถูกอัญเชิญไปเข้าประกอบพิธี ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ความโดดเด่นของวัดใหญ่สุวรรณาราม อยู่ที่รูปแบบของสถาปัตยกรรม งานจิตรกรรม และประติมากรรม ที่รวบรวมช่างฝีมือไว้หลายสาขา โดยเฉพาะฝีมือช่างเพชรสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เห็นได้ในพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ

พระอุโบสถ

มีพระระเบียงคดล้อมรอบ ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยสมัยอยุธยา ก่ออิฐ ถือปูน มีหน้าบันประดับกระจกสี ประกอบลวดลายปูนปั้นสวยงามมาก ผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเทพชุมนุม 5 ชั้น ที่มีความงดงามและทรงคุณค่าทางศิลปะที่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ ได้แก่ พระพรหม ยักษ์ ครุฑ ฤาษี และเทวดา ไม่ซ้ำแบบกัน คั่นกลางองค์เทพด้วยลายดอกไม้

ด้านหน้าและด้านหลังผนังหุ้มกลองของพระอุโบสถมีบานประตูด้านละ 2 ช่อง โดยด้านหน้าเจาะช่องหน้าต่างไว้อยู่ระหว่างกึ่งกลางของบานประตูทั้งสองข้าง แต่มีขนาดใหญ่กว่าบานประตู พระอุโบสถหลังนี้จึงแปลกกว่าที่อื่นๆ เพราะมีหน้าต่างเพียงหน้าต่างเดียว ส่วนด้านหลังของบานประตูและหน้าต่าง มีภาพเขียนทวารบาลรูปทรงสวยงามมาก

พระพุทธรูปภายในพระอุโบสถ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย ถัดมาด้านซ้ายเป็นรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ด้านขวาเป็นรูปหล่อพระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) อดีตเจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม และที่สำคัญคือ ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัย มีความแปลกคือที่พระบาทเบื้องขวามี 6 นิ้ว

ส่วนที่พระระเบียงคดล้อมรอบพระอุโบสถ บริเวณหน้าบันจะประดับด้วยเลขห้า (๕) หมายถึงรัชกาลที่ 5 ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ และหากเดินดูระเบียงคดรอบๆ ก็จะเห็นหน้าบันด้านหนึ่งที่แปลกออกไป ประดับด้วยเลขห้าแบบกลับด้าน

หอไตรกลางน้ำ

บริเวณใกล้กับพระอุโบสถ มี “หอไตรกลางน้ำ” เป็นหอไตรหลังเก่าตั้งอยู่กลางสระน้ำ รูปทรงแบบเรือนไทยโบราณชั้นเดียว 2 ห้อง แต่มี 3 เสา มีสะพานทอดจากริมขอบสระไปยังหอไตร เสาเดิมเป็นเสาไม้ แต่ได้ผุพังลง จึงเปลี่ยนมาใช้เสาปูน ซึ่งเสาสามต้นเป็นสัญลักษณ์หมายถึง พระอภิธรรม พระวินัย และพระสูตร รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก นั้นเอง

Leave Comment
ค้นหา
close(x)
close(x)
close(x)