วัดมหาธาตุวรวิหาร
วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างขึ้นมาแต่เมื่อครั้งใด ปรากฏโบราณสถานที่สำคัญ คือพระปรางค์ 5 ยอด ซึ่งสร้างขึ้นตามคติมหายาน เป็นฝีมือช่างขอม นอกจากนั้นยังได้ขุดพบพระพุทธรูปโบราณศิลปะคุปตะภายในวัดมหาธาตุนี้
เดิมเรียกกันว่า ‘วัดหน้าพระธาตุ’ บ้างก็เรียก ‘วัดพระธาตุ’ ครั้นเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์เมืองเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2459 ได้รับสั่งให้เรียกว่า ‘วัดมหาธาตุ’
ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีฝั่งตะวันตก แม่น้ำอันได้ชื่อว่ามีรสอร่อยนัก เป็นที่โปรดเสวยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังมีข้อความในใบบอกเมืองเพชรบุรีว่า
“คุมไพร่ไปตักน้ำวัดถ้ำไซ ส่งเข้ามาเป็นน้ำสรง น้ำเสวย เดือนละสองครั้ง ครั้งละ 20 ตุ่มเสมอ จงทุกเดือน”
นอกจากนั้นยังเป็นแม่น้ำที่ใช้สำหรับเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วัดมหาธาตุวรวิหาร นอกเหนือจากพระปรางค์ 5 ยอด ที่จะให้เราได้ชื่นชมงานสถาปัตยกรรมโบราณแล้วนั้น ภายในพระวิหารหลวงยังมีงานจิตรกรรมโดยช่างเขียนเมืองเพชรบุรี และพระพุทธรูปทั้งพระประธานและพระพุทธรูปอื่นๆ ซึ่งเป็นฝีมือช่างเพชรบุรี อันเลื่องชื่อยิ่งนัก
หน้าบันของพระวิหารหลวงก็มีรูปปูนปั้นพระนารายณ์ทรงครุฑ หนุมานแบกครุฑ และมีลายก้านขดประกอบ หน้าบันตอนล่างเป็นรูปเทพพนมเรียงเป็นแถว ทั้งช่อฟ้า หางหงส์ ล้วนทำเป็นรูปเทพพนม
กล่าวว่าหน้าบันนี้ เป็นผลงานการปั้นของปู่อิน ซุ้มประตูเป็นผลงานการปั้นของหลวงกัลมาภรณ์ ส่วนหน้าบันพระอุโบสถนายคงสำลัเป็นผู้ปั้น
วัดมหาธาตุวรวิหารมีอายุมากกว่าพันปี หลักฐานจากสมุดเพชรบุรีกล่าวว่า ได้พบอิฐสมัยทวาราวดีบริเวณป่าช้าวัดมหาธาตุวรวิหาร ด้านที่ติดกับวัดแก่นเหล็ก เป็นแผ่นอิฐยาวประมาณ 1 ศอก ปิดทับอยู่บนหลุมฝังศพ มีซากโครงกระดูกโครงหนึ่ง มีอักษรจารึกที่แผ่นอิฐความว่า “ข้าพเจ้าจีนแดงได้สร้างพระปรางค์ไว้ไม่สำเร็จ ขอให้ข้าพเจ้าได้สร้างพระปรางค์นี้อีกต่อไป”
นับเนื่องแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ปรากฏหลักฐานการบูรณะมาแล้ว 5 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2357 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปี พ.ศ. 2406 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม และพระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) รักษาการเจ้าเมืองเพชรบุรี ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรพันธพิสุทธ (เทศ บุนนาค) ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์ โดยก่อให้สูงระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เสร็จองค์พระปรางค์ก็พังลงมา จึงได้ก่อขึ้นไปอีกประมาณ 4 ศอก งานค้างอยู่เพียงเท่านั้น เนื่องจากพระยาสุรพันธพิสุทธ (เทศ บุนนาค) ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน
ในปี พ.ศ. 2471 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสุวรรณมุนี (ชิต) เจ้าอาวาสได้มอบหมายให้นายพิณ อินฟ้าแสง เป็นผู้ออกแบบ และขออนุญาตบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อหน่วยราชการ ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จเป็นองค์พระปรางค์ 5 ยอด แต่ยังไม่มีลวดลายตกแต่งภายนอก เพราะทุนทรัพย์หมดลง ใช้เวลาดำเนินการอยู่ 1 ปี 11 เดือน รวมเงิน 13,000 บาท ในการบูรณะครั้งนี้ได้พบตลับลายครามบรรจุพระพิมพ์ขนาดเล็ก เป็นพระพุทธรูปทองคำและเงิน และพบพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 2 องค์
ในปี พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จยังวัดพระมหาธาตุวรวิหาร ทรงพระราชทานทรัยพ์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,500 บาท ร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์ ได้มีผู้ร่วมบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนมาก การบูรณะในครั้งนี้แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2479 และในปี พ.ศ. 2535 ใช้เวลาปฏิสังขรณ์ปีเศษ โดยใช้เงินจากผู้มีจิตศรัทธา เป็นเงิน 11 ล้านบาทเศษ
วัดมหาธาตุวรวิหาร ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มีพระพุทธรูปประดิษฐานในพระวิหารหลวง องค์ประธานคือ พระพุทธรูปทรงราชาภรณ์ และยังมีพระพุทธรูปอีกหลายองค์ประดิษฐานภายในวิหาร ที่สำคัญอีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของชาวเมืองเพชร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 8 นิ้ว พระหัตถ์ซ้ายถือพัด ชาวบ้านเรียกขานนามท่านว่า ‘หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์’ ใครมีเรื่องเดือดร้อนใจ หรือต้องการความช่วยเหลือ ต่างต้องไปบนบานศาลกล่าวกับพระพุทธรูปองค์นี้ ครั้นเมื่อประสบความสำเร็จดังที่บนบานไว้ก็จะมาแก้บน ซึ่งการแก้บนจะว่าจ้างละครชาตรีหน้าพระวิหารให้เล่นละครถวายหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์
หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ ตามประวัติกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอัญเชิญมาจากวัดร้างแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี มาประดิษฐานไว้ในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงผนวชอยู่
สำหรับพระวิหารหลวงนี้ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301)
และที่พระวิหารน้อย ซึ่งมีรูปทรงสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ฐานอ่อนโค้งทรงสำเภา ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่ออู่ทอง ศิลปะแบบอู่ทองปางมารวิชัย