เหรียญปั๊มหลวงพ่อเชื่อม วัดแก่นเหล็ก รุ่นแรก พ.ศ. 2506

06/10/2019 Admin

#อำเภอเมืองเพชรบุรี

#เหรียญปั๊มหลวงพ่อเชื่อม วัดแก่นเหล็ก รุ่นแรก พ.ศ. 2506

#วัดแก่นเหล็ก

เป็นวัดเก่าโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง สันนิษฐานว่าคงตั้งมานานมาก จากคำบอกเล่าของหลวงพ่อพระปลัดดิษฐ์ มาโฆ อดีตเจ้าอาวาส ซึ่งมรณภาพเมื่อปีพ.ศ.2502 อายุ 92 ปี ระบุว่าวัดนี้น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 300 ปี ลำดับเจ้าอาวาสเท่าที่สืบค้นได้มี 5 รูปคือ

1.พระครูญาณวิสุทธิ (พ่วง)

2.พระครูญาณวิสุทธิ (จั่น)

3.หลวงพ่อพระปลัดดิษฐ์ (พ.ศ.2458-2502)

4.พระครูรัตนสารวิสุทธิ์ (เชื่อม) พ.ศ.2503-2519

5.พระครูชินวัชรวิสุทธิ์ (เพิ่ม เกตุสุวรรณ)

#พระครูรัตนสารวิสุทธิ์ มีนามเดิมว่า เชื่อม นามสกุล ธรรมแย้ม เกิดเมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2434 ที่บ้านบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เมื่ออายุ 8 ขวบ บิดาได้พาไปฝากไว้กับหลวงพ่อชม เจ้าอาวาสวัดวังบัว อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เพื่อศึกษาเล่าเรียนหนังสือ ต่อมาย้ายไปอยู่กับหลวงพ่อชม เจ้าอาวาสวัดดอนกอก จากนั้นได้ย้ายมาเรียนกับหลวงปู่สม วัดถ้ำแก้ว อำเภอเมืองเพชรบุรี และบรรพชาเป็นสามเณรศึกษาภาษาบาลีกับหลวงปู่สม จนถึง พ.ศ. 2453 อายุได้ 18 ปี ครั้นถึง พ.ศ. 2455 อายุครบอุปสมบทจึงได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ณ พัทธสีมาวัดใหม่บางจาก ซึ่งในสมัยนั้นมีชื่อว่า วัดธัมมะทีโย มีพระครูญาณวิสุทธิ์ (จั่น) วัดแก่นเหล็ก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการอยู่ วัดถ้ำแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการชม วัดดอนกอก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “รตฺนโชติ” เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาที่วัดใหม่บางจาก จากนั้นได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดแก่นเหล็ก คอยปฏิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์เรื่อยมา จนถึง พ.ศ. 2502 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดแก่นเหล็ก หลวงพ่อ เป็นพระเกจิอาจารย์ดังเมืองเพชรร่วมยุคสมัยกับ หลวงพ่อเทพ วัดเขาถ้ำรงค์ อ.บ้านลาด,หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ,หลวงพ่อเจริญ วัดทองนพคุณ (น้องชายหลวงพ่อแดง),หลวงพ่อไห วัดบางทะลุ,หลวงพ่อพวง วัดพระนอน รวมทั้งเจ้าคุณอินทร์ วัดยาง ซึ่งเคยร่วมปลุกเสกพระเครื่องพิธีใหญ่ด้วยกันหลายครั้ง เช่น พิธีสร้างพระเครื่องของค่ายทหารม้า สระบุรี โดยท่านลงกระหม่อมให้ทหารหลายนาย ปรากฏอภินิหารเล่าขานกันอย่างมาก ต่อมา พ.ศ. 2506 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูรัตนสารวิสุทธิ์”

ตลอดมากระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต หลวงพ่อเชื่อมเป็นพระที่ครองตนแบบสมถะ ชอบความสงบเงียบ มีความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง มีศีลจารวัตรเป็นที่น่ายกย่อง ชอบอบรมสั่งสอนธรรมะให้ชาวบ้านที่เดินทางไปกราบไหว้เสมอ แม้บางคนจะพูดยกย่องถึงความเก่งกาจของพระเกจิอาจารย์รูปอื่นให้ได้ยิน ท่านก็ไม่เคยอิจฉา หรือว่าใครไม่เก่งจริง ตรงกันข้าม ท่านกลับเล่าเรื่องอภินิหารของพระอาจารย์รูปนั้นซึ่งไม่เคยมีใครรู้ใครเห็น ให้ฟังอีกด้วย พระอาจารย์รูปไหน เก่งทางไหน ท่านจะบอกไว้อย่างเสร็จสรรพ บางคนที่ฟังอาจคิดว่าท่านพูดยกย่องแบบอิจฉา เลยไม่ค่อยสนใจกัน มาตอนหลังเรื่องที่ท่านพูดนั้นเป็นจริง ก็หันมาสนใจและขอของดีจากท่านเอาไปบูชา รวมทั้งกล่าวยกย่องสรรเสริญท่านอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ท่านก็วางเฉย ไม่คล้อยตาม เพราะท่านไม่เคยสนใจเรื่องที่ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร คำพูดคำสอนของท่านจะเป็นแบบง่ายๆ สุภาพเรียบร้อย แต่ว่าแฝงไว้ด้วยคำที่กินใจคนฟังอย่างมาก คนที่คิดหรือเข้าใจเท่านั้นที่จะรู้ แม้ท่านจะไม่โด่งดังเหมือนพระอาจารย์ร่วมรุ่นหลายๆรูป แต่ผู้ที่เคารพเลื่อมใสท่านแล้ว มักจะได้พบเห็นอภินิหารแปลกๆอยู่เสมอ ในด้านวิชาอาคมท่านได้รับการถ่ายทอดจากพระอุปัชฌาย์ ,หลวงพ่อชม(ใหญ่) และพระอาจารย์อีกหลายท่าน รวมทั้งที่เป็นฆราวาสก็หลายคน ได้มาหลายวิชา อาทิ เรียกลมเรียกฝน,ทำน้ำมนต์แก้อาถรรพณ์ต่างๆ ท่านก็เป็นหนึ่งไม่รองใคร พระเครื่องท่านสร้างไว้หลายแบบ เช่น เหรียญรูปเหมือนมีด้วยกัน 3 รุ่น พระเครื่องเนื้อผงพิมพ์ต่างๆหลายพิมพ์ นอกจากนี้ ก็มีผ้ายันต์ธงสามเหลี่ยม,ผ้ายันต์สี่เหลี่ยม และแบบติดตัวผืนเล็ก ผ้ายันต์พุทธจักร โดยผู้ใกล้ชิดกล่าวกันว่า พระเครื่องและเครื่องรางของท่านเด่นทางด้านแคล้วคลาด และคงกระพัน (เหนียว) มีประสบการณ์ให้เห็นบ่อยครั้ง ซึ่งปัจจุบันแทบทุกชนิดนั้นเริ่มหายาก เพราะคนที่ประจักษ์ในคุณวิเศษ และทราบว่าเป็นพระของท่านจะหวงแหนมาก แม้ว่าพระผงของท่านจะมีพิมพ์ทรงที่ไม่สวยงามก็ตามที โดยเฉพาะเหรียญนั้นติดอันดับ “เหรียญดีเมืองเพชร” เช่นกัน หลวงพ่อเชื่อมมรณภาพลงในปีพ.ศ.2519 โดยก่อนมรณภาพเพียงอาทิตย์เดียว ท่านได้รื้อค้นในกุฏิว่ามีอะไรบ้าง แล้วให้คณะกรรมการมาสำรวจเพื่อจัดการให้เรียบร้อย เหมือนรู้ตัวเองดีว่าในไม่ช้าจะต้องจากไป ต่อมาในตอนเช้าของวันที่ท่านมรณภาพ หลังจากรับประทานข้าวต้มแล้ว ท่านมีอาการแน่นหน้าอก มีเหงื่อแตกทั้งตัว และได้สั่งพระให้จุดธูปเทียนบูชาพระ ท่านพนมมือมองพระพุทธรูปแล้วค่อยๆเอนตัวลงนอน หลวงพ่อเชื่อมมรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2519 สิริอายุได้ 84 ปี พรรษา 64

#ใน พ.ศ. 2506 เป็นปีที่ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรนั้น ทางคณะศิษย์ได้จัดทำเหรียญรูปเหมือนตัวท่านขึ้นเป็นที่ระลึกลักษณะเป็นทรงรูปไข่ครึ่งองค์ ด้านล่างระบุ “พระครูรัตนสารวิสุทธิ์” ด้านหลังเป็นอักขระยันต์ ระบุ “พ.ศ. ๒๕๐๖”

#เหรียญปั๊มหลวงพ่อเชื่อม วัดแก่นเหล็ก รุ่นแรก มีการสร้างเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ,เนื้ออัลปาก้า และ ทองแดงรมดำ

Leave Comment
ค้นหา
close(x)
close(x)
close(x)