#อำเภอเมือง
#เหรียญปั๊มรุ่นแรก หลวงพ่ออบ วัดถ้ำแก้ว พ.ศ. 2516
#วัดถ้ำแก้ว
ตั้งอยู่เลขที่ 60 ถนนเพชรเกษม ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดถ้ำแก้ว ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2484 จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในท้องถิ่น เล่าว่า วัดนี้เดิมชื่อ วัดคูหามณี
แต่ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดถ้ำแก้ว ภายในมีน้ำแข็งอยู่ตลอดปี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม พ.ศ. 2533 ผู้ดูแลวัดมีดังนี้
1. พระอธิการจุ้ย
2. พระอธิการแย้ม ยโสธโร
3. พระอธิการทองอยู่ อินทโชโต
4. พระอธิการหยอย กุสโล
5. พระอธิการอบ อินฺทวิริโย
6. พระครูสีลวัชรสาร
7. พระครูสมุห์ อำนวย ปภากโร
# พระอธิการอบ อินฺทวิริโย นามสกุล กลีบจงกล เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือน 11 พ.ศ. 2452 ที่บ้านหนามช้างปลัก ตำบลหัวสะพาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ชีวิตในวัยเยาว์เมื่ออายุ 10 ขวบ โยมบิดามารดาได้นำท่านไปฝากอยู่ในสำนักหลวงพ่ออยู่ วัดถ้ำแก้ว เพื่อเรียนหนังสือตลอดจนศึกษาอักขระสมัยขั้นพื้นฐานเป็นเวลา 3 ปี จากนั้นจึงกลับมาอยู่บ้านช่วยโยมบิดามารดาทำนาและขึ้นตาล จนกระทั่งถึงเวลาเกณฑ์ทหาร ท่านจับได้ใบดำไม่ต้องถูกทหาร จึงได้อุปสมบทเพื่อตอบแทนพระคุณบุพการี ณ พัทธสีมาวัดถ้ำแก้ว โดยมีหลวงพ่อทิม วัดโคก เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเช้า วัดเวียงคอย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่ออยู่ วัดถ้ำแก้ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “อินฺทวิริโย”
เมื่อเป็นภิกษุแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำแก้ว ศึกษาวิปัสสนาธุระและวิทยาคมกับหลวงพ่ออยู่ ด้วยความพากเพียรเป็นเวลา 5 พรรษา จากนั้นจึงออกเดินธุดงค์อยู่เป็นประจำทุกปี ไปร่ำเรียนวิชากับพระอาจารย์ต่างๆ อาทิ อาจารย์วัดลาดบัวขาว จังหวัดปราจีนบุรี หลวงปู่นาค วัดหัวหิน อาจารย์อยู่ อาจารย์หยอย เจ้าอาวาสวัดถ้ำแก้ว และปู่แสง โยมวัด (โยมพระอาจารย์หยอย) ซึ่งเป็นฆราวาสถือศิลกินเพลเรืองวิทยาคมมีชื่อดังมากในจังหวัดเพชรบุรี ต่อมาหลวงพ่อหยอย เจ้าอาวาสวัดถ้ำแก้ว มรณภาพลงเมื่อ พ.ศ. 2488 หลวงพ่ออบได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปีถัดมา ท่านได้รับภาระหนักในการดูแลและรักษาพัฒนาวัดสืบต่อมา โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดและได้สร้างถาวรวัตถุขึ้นอีกหลายอย่าง อาทิ กำแพงแก้ว สะพานข้ามคลองชลประทานข้ามวัด ฌาปนสถาน เป็นต้น
ในด้านวัตถุมงคล ท่านได้ออกเหรียญรุ่นแรก เมื่อ พ.ศ. 2516 โดยแบ่งเป็น 4 ชนิด คือ เนื้อทองคำ 3 เหรียญ เนื้อเงิน 9 เหรียญ เนื้อสัมฤทธิ์ 200 เหรียญ และเนื้อนวโลหะ 7,589 เหรียญ นอกเหนือจากนี้ ยังมีวัตถุมงคลรุ่นอื่น ๆ ที่คณะศิษย์และทางวัดสร้างเอง มีดังนี้ เหรียญรูปเหมือนรุ่น 2 ศิษย์ ทอ.สร้างถวาย, เหรียญรุ่น 3 พ.ศ. 2517 และพระกล่องชัดกรรมการ พ.ศ. 2517 ประกอบไปด้วย 1. เหรียญรุ่นสาม 2. พระนาคปรกใบมะขาม 3. พระจันทร์ลอยผสมเส้นเกศา 4. พระผงรูปเหมือน 5. พระปิดตาแช่น้ำว่าน นอกจากนี้ยังมีพระกริ่งถ้ำแก้ว พ.ศ. 2516 ตะกรุด ปลัดขิก ล็อกเกต เป็นต้น
หลวงพ่ออบท่านมรณภาพลงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ด้วยอุบัติเหตุอันไม่อาจคาดการณ์ถึง สิริรวมอายุได้ 71 ปี พรรษา 49