เหรียญปั๊มหลวงพ่อสุโขทัย วัดในกลาง รุ่นแรก พ.ศ. 2511

06/10/2019 Admin

#อำเภอบ้านแหลม

#เหรียญปั๊มหลวงพ่อสุโขทัย วัดในกลาง รุ่นแรก ปี 2511

#วัดในกลาง

เป็นวัดเก่าแก่มีอายุไม่น้อยกว่า 250 ปี ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2305 เดิมชื่อวัดกลางสนามจันทร์ วัดในกลางเคยเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงธนบุรี แต่เนื่องจากตกสำรวจจึงกลายเป็นวัดราษฏร์ เป็นวัดที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระมารดาซึ่งเป็นคนบ้านแหลม เจดีย์ อุโบสถแบบมหาอุด กุฏิ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ในวัดล้วนเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย วัดนี้เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อสุโขทัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านตำบลบ้านแหลมและประชาชนทั่วไป
สถาปัตยกรรมเด่นของวัดในกลางคือ ศาลาการเปรียญ ซึ่งทำด้วยไม้สักทั้งหลัง ได้รับการบูรณะโดยถอดชิ้นส่วนเดิมมาซ่อมแซมแล้วประกอบขึ้นมาใหม่ตามแบบเดิม สันนิษฐานว่า แต่เดิมเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯให้รื้อถอนจากอยุธยามาปลูกสร้างที่วัดในกลาง การก่อสร้างแบบโบราณใช้ลูกสลักเป็นเดือยในการยึดไม้ บางส่วนใช้ตะปูจีน เสาของศาลาการเปรียญมี 8 เหลี่ยม มีคันทวยแกะสลักสวยงามเป็นรูปหัวนาคครองรับชายคา ซึ่งคันทวยหัวนาคของศาลาการเปรียญวัดในกลางนั้น เป็นที่ยอมรับกันว่า มีรูปแบบและลวดลายการแกะสลักที่อ่อนช้อย งดงามและวิจิตรบรรจงมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง วัดต่าง ๆ ที่จะบูรณะหรือสร้างศาสนสถานใหม่มักจะนำรูปแบบของคันทวยของศาลาการเปรียญวัดในกลางไปเป็นแม่แบบเสมอ
อุโบสถวัดในกลาง วัดเก่าแก่ในอำเภอบ้านแหลม อยู่ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอมากนัก พอเลี้ยวรถเข้ามาก็จะเห็นอุโบสถขนาดใหญ่สีขาวตั้งตระหง่านอยู่กลางพื้นที่โล่งกว้างเป็นสิ่งแรก บริเวณโดยรอบแทบจะไม่มีเสนาสนะใดๆ หรือแม้แต่กำแพงล้อมรอบวัดก็ไม่มีให้เห็น ใกล้ๆ กับบริเวณวัดพอจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาเปิดร้านเล็กๆ น้อยๆ นอกเหนือจากนั้นก็ไม่มีอะไรอื่น อุโบสถหลังนี้เป็นอุโบสถที่สร้างขึ้นมาใหม่แทนหลังเก่าที่ได้ทำการรื้อถอนออกไปเนื่องจากอายุความเก่าแก่ของอุโบสถหลังเก่าไม่สามารถยืนหยัดผ่านเวลายาวนานถึง 200 ปีได้ จุดเด่นของวัดในกลางที่ทำให้มีประชาชนเดินทางมาเยี่ยมชมนั้นไม่ใช่พระอุโบสถหรือพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายใน แต่เป็นศาลาการเปรียญที่ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยการคงรูปลักษณ์เดิมเอาไว้ให้มากที่สุด และยังได้ทำการตกแต่งเพิ่มเติมในหลายๆ ส่วนโดยช่างฝีมือชั้นครู พระอุโบสถวัดในกลางจึงไม่ได้เปิดให้เข้าไปไหว้พระ

ศาลาการเปรียญวัดในกลาง จากศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน มองไปด้านข้างเราก็จะเห็นศาลากลุ่มหนึ่งประกอบด้วยศาลาหลายหลังเรียงอยู่ใกล้ๆ กัน ทั่วบริเวณศาลาได้มีการปลูกต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก จึงทำให้รู้สึกร่มรื่นดึงดูดให้เข้าไปหลบแดดและชมความงดงามภายใน ศาลาการเปรียญ ก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่โดยคงส่วนที่ยังใช้ได้ไว้คงเดิม มีสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรีกำกับดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์ รวมค่าใช้จ่ายกว่า 15 ล้านบาท ที่มาของศาลาการเปรียญวัดในกลาง ว่ากันว่า เป็นศาลาที่พระเจ้าตากสิน พระราชทานไว้เป็นอนุสรณ์แม่นกเอี้ยง ณ วัดในกลาง ภายหลังแม่นกเอี้ยงได้รับการสถาปนาเป็นพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ในปี พ.ศ. 2312

จุดเด่นของศาลาการเปรียญที่เราได้เห็นตั้งแต่ภายนอกคือ ช่อฟ้า เป็นช่อฟ้าปากหงส์แบบช่างเมืองเพชรต่างจากตัวศาลาที่ยกมาจากกรุงศรีอยุธยาแต่ไม่ได้ใช้ช่อฟ้าปากครุฑตามแบบศิลปะอยุธยา คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นโดยช่างเมืองเพชรประกอบเข้าไปในภายหลัง ฝาศาลาไม้ปะกนตามแบบกุฏิสงฆ์โบราณ
ภาพลายรดน้ำวัดในกลาง สิ่งหนึ่งที่ขึ้นชื่ออย่างมากของศาลาการเปรียญวัดในกลาง ก็คือภาพเขียนลายรดน้ำที่สร้างขึ้นหลังจากการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญที่มีอายุกว่า 200 ปี แม้ว่าการบูรณะจะทำให้สิ่งเก่าแก่หลายอย่างเปลี่ยนเป็นของใหม่แต่การบูรณะด้วยหลักความคิดที่จะคงสิ่งล้ำค่าเก่าแก่ให้คงอยู่สืบต่อไป จึงได้ยังคงหลายๆ ส่วนของศาลาการเปรียญให้มีคงเดิมมากที่สุด การตกแต่งศาลาการเปรียญด้วยภาพเขียนลายรดน้ำที่เกิดจากนิมิตของพระมหาสมยศ (เจ้าอาวาส) ภาพลายรดน้ำส่วนแรกเหนือธรณีประตูขึ้นไปเป็นภาพปฏิจจสมุปบาทนำรูปแบบมาจากธิเบต
พระประธานศาลาวัดในกลาง กลางศาลาการเปรียญมีพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบกยอดนพศูลสวยงามมาก อีกทั้งการประกอบศาลาการเปรียญหลังนี้ เป็นภูมิปัญญาของช่างบ้านแหลม โดยใช้ไม้แผ่นใหญ่มารองรับเสาไว้ก้นหลุม กันศาลาทรุดตัวเพราะดินที่อำเภอบ้านแหลมเป็นดินอ่อนตัว ส่วนอื่นๆ ประกอบด้วยสลักเดือยไม้ทั้งหมด ภายในศาลาการเปรียญตกแต่งด้วยลายรดน้ำทั้งขื่อ แป และหัวเสา รวมไปถึงเต้า เว้นไว้แต่ผนังปะกนและบานหน้าต่างเท่านั้น โดยช่างจากกรมศิลปากรเป็นผู้เขียนเรื่องราว
ภาพจิตรกรรมแผ่นไม้สมัยรัชกาลที่ 4 สิ่งสำคัญของศาลาการเปรียญวัดในกลาง คือภาพจิตรกรรมที่เขียนไว้บนคอสองเขียนบนแผ่นไม้ ได้รับการยกย่องมาก เชื่อกันว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มีคุณค่ามหาศาล เป็นภาพอดีตพุทธประวัติ ในภพพระโพธิสัตว์ลักษณะการเขียนแบบร่วมสมัย มีหนักเบา สีค่อนข้างสด แสดงอารมณ์ออกทางสีหน้า และแววตามีความแม่นยำในการใช้ภู่กันมาก
การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ
รูปที่ 1 พระสวน
รูปที่ 2 พระเจียก
รูปที่ 3 พระอั๋น
รูปที่ 4 พระเตี๋ยว
รูปที่ 6 พระชุบ สิริวณฺโณ พ.ศ. 2458 – 2592
รูปที่ 7 พระครูวชิรคุณาธาร (หลวงพ่อเพชร) พ.ศ. 2499 – 2524
รูปที่ 8 พระมหาสมยศ ฐิติโก

สังขารพระครูวชิรคุณาธาร พระครูวชิรคุณาธาร หรือ หลวงพ่อเพชร นาควโร อดีตเจ้าอาวาสวัดในกลาง ที่สังขารร่างไม่เน่าเปื่อย จึงตั้งไว้ในโลงแก้วให้ประชาชนเข้ามาสักการะบูชา หลวงพ่อเพชร นาควโร ชาตะ วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2458 มรณภาพ วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม 2542

#ประวัติการสร้างเหรียญนั้น สร้างเป็นที่ระลึกในงานยกช่อฟ้า หอสวดมนต์ วัดในกลาง โดยสร้างในสมัยพระครูวชิรคุณาธาร (หลวงพ่อเพชร นาควโร) เป็นเจ้าอาวาส เหรียญรุ่นนี้ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลีมาปลุกเสกด้วยครับ

Leave Comment
ค้นหา
close(x)
close(x)
close(x)