เหรียญปั๊มหลวงพ่อสุข วัดบันไดทอง รุ่นแรก พ.ศ.2496

17/10/2019 Admin

#อำเภอเมือง

#เหรียญปั๊มหลวงพ่อสุข วัดบันไดทอง รุ่นแรก พ.ศ.2496

#วัดบันไดทอง

ตั้งอยู่เลขที่ 56 บ้านโพธิ์ หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน อาณาเขต ทิศตะวันตกจดถนนหลวงสายเพชรบุรี – บ้านแหลม ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออกจดแม่น้ำเพชรบุรี อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2523 ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์เสาทุกด้านมีคันทวนหน้าตั๊กแตน รับเชิงชาย มีอุโบสถ และพระพุทธรูปปางสมาธิ ศาลาทรงไทยท่าน้ำ ศาลาพักร้อน ศาลาการเปรียญ หมู่เรือนไทยสวยงาม ลายหน้าบันสวยงาม ช่อฟ้าใบระกา อ่อนซ้อย วัดบันไดทองเป็นวัดที่มีอายุเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลาย สร้างเมื่อ พ.ศ.2275 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และรูปแบบศิลปกรรมของศาสนสถานเป็นรูปแบบเฉพาะ ที่ได้พยายามรักษารูปแบบเอาไว้ ปัจจุบัน มีพระครูสิริพัชรานุโยค เป็นเจ้าอาวาส

วัดบันไดทองตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำเพชรบุรี   ตรงที่เป็นโค้งตวัด (หมายถึงคุ้งน้ำที่ถูกกระแสเชี่ยวกรากแห่งลำน้ำตวัดซัดเซาะตลิ่ง) ที่มีวังน้ำวน ซึ่งในฤดูน้ำนองกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากทำให้เป็นอันตรายในการเดินเรือ  เพราะเกิดเรือล่มเป็นประจำตรงบริเวณนี้  จึงได้มีการขุดคลองลัดผ่านหน้าวัดบันไดทองในช่วงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้ชื่อว่า คลองขุด

ธรรมชาติของแม่น้ำเพชรบุรีนั้นมีคุ้ง มีโค้งตวัดซัดเซาะตลิ่งพังทลายอยู่หลายแห่ง ชาวบ้านเรียกคุ้งแบบนี้ว่า “น้ำหัก”          แต่ปัจจุบัน หลังจากมีเขื่อนแก่งกระจานกั้นลำน้ำแล้วปัญหาน้ำเชี่ยวแบบโค้งตวัดจึงค่อยลดลง

หอระฆังนี้สร้างขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ประตูตอนบ่างของหอระฆังโค้งแบบโรมัน (ซึ่งนิยมในสมัยรัชกาลที่ 4) ช่องประตูช่วงบนถือปูนเป็นเหมือนคิ้ว โค้งรับเหลื่อมกัน 2 ชั้น ปลายของส่วนโค้งตั้งอยู่บนหัวเสาแบบดอริค(DORIC) ตามแบบฉบับหัวเสาของกรีก ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ หอชัชวาลย์เวียงชัย (กระโจมแก้ว) ที่พระนครคีรี เพียงแต่ต่างกันตรงที่หอชัชวาลย์เวียงชัยเป็นเสากลมตามรูปแบบของตัวอาคาร แต่เสาของหอระฆังวัดบันไดทองเป็นเสาเหลี่ยม เพื่อให้กลมกลืนกันกับรูปทรงของหอระฆังซึ่งเป็นเหลี่ยม ซุ้มประตูและหัวเสาตอนบนประด้วยลายปูนปั้นเป็นลายดอกไม้ แต่เป็นลวดลายของกรีก มีลักษณะเป็นเหมือนดอกปาเปรุสของกรีก ซึ่งมีชื่อเรียกว่าแบบ โครินเธียน (CORINTHIAN) ส่วนหลังคาต่อยอดด้วยเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งเป็นแบบของไทย แต่หางหงส์เป็นแบบจีน เป็นลายปูนปั้นมังกรพ่นดอกไม้หรือที่คนจีนเรียกว่า เหล่งช่อ รวมความแล้ว หอระฆังวัดบันไดทองมีทั้งอิทธิพลตะวนตก อิทธิพลจีน และมีแบบของศิลปะไทยผสมกัน แต่ก็มิได้ทำให้รูปทรงของหอระฆังต้องเสียไป ยังประสานกลมกลืนเข้ากันเป็นอย่างดี

#หลวงพ่อสุข วัดบันไดทอง หรือ พระครูสุตานุโยค นามเดิม สุข นามสกุล กลิ่นนาค ชาติภูมิเดิมอยู่ที่บ้านห้วยโรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 ชีวิตปฐมวัยบิดามารดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์วัดห้วยโรง ซึ่งเป็นวัดตั้งอยู่ในหมู่บ้าน เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียน เมื่ออายุครบอุปสมบท ท่านได้ขออนุญาตบิดามารดาลาอุปสมบทได้ 1 พรรษา แล้วจึงถูกเกณฑ์เป็นทหารเพื่อรับใช้ประเทศชาติเป็นเวลา 2 ปี เมื่อพ้นหน้าที่ของการเป็นทหารแล้วด้วยกุศลจิตอันแน่วแน่ในพระพุทธศาสนา จึงได้ทำการอุปสมบทอีกวาระหนึ่ง ณ พัทธสีมาวัดห้วยโรง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 โดยมีพระอธิการหนึ่ง วัดห้วยโรง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์นิ่ม วัดห้วยโรง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เช่ง วัดห้วยโรง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาในการอุปสมบทว่า “สุจิตฺโต”

เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้ทำการศึกษาอ่านเขียนภาษาขอมจนมีความชำนาญ ประกอบกับเป็นผู้ที่มีปฏิภาณปัญญาไว สามารถท่องพระปาติโมกข์จนจบในพรรษาแรกนั้น และด้วยจิตใจที่ตั้งมั่นในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจึงได้เดินทางมาพำนักที่วัดเขาหลวง (ธงไชย) ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่เชิงเขาหลวงอันเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม เจริญปัสสนาได้เป็นอย่างดี ต่อมาจึงได้เดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่สำนักวัดนอก บางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ณ จนล่วงเข้าพรรษาที่ 6 ท่านได้ลาเจ้าอาวาส วัดนอก บางขุนไทร มาจำพรรษาที่วัดบันไดทอง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งขณะนั้นมีหลวงพ่อเต็มเป็นเจ้าอาวาสแต่ชราภาพมากแล้ว ประกอบกับหลวงพ่อเต็มท่านมีสุขภาพไม่ค่อยสมบูรณ์มากนัก หลวงพ่อสุขจึงต้องรับเป็นธุระในกิจต่างๆ ของทางวัดบันไดทอง จนกระทั่ง พ.ศ. 2478 หลวงพ่อเต็มได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์และเหล่าทายกทายิกาจึงพร้อมใจกันอาราธนาหลวงพ่อสุขเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา

ตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อสุขปกครองวัดบันไดทอง ได้เอาใจใส่ดูแลรักษาวัด ปฏิสังขรณ์เสนาสนะถาวรวัตถุต่างๆ อาทิ บูรณะอุโบสถ หอระฆัง จัดตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมวัดบันไดทอง สร้างฌาปนสถาน โรงเรียนประชาบาลวัดบันไดทอง (ศรีสุตาราษฎร์) สร้างเขื่อนกั้นน้ำบริเวณวัด ฯลฯ เป็นต้น นับได้ว่าท่านเป็นผู้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ด้วยการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เป็นการประพฤติปฏิบัติชอบ จรรโลงพระพุทธศาสนา เป็นที่เสื่อมใสศรัทธาของเหล่าญาติโยม นับเป็นยุคทองของวัดบันไดทอง ด้วยความดีที่สั่งสมมาทำให้ใน พ.ศ. 2492 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูสุตานุโยค”

ในช่วงเข้าสู่วัยชราหลวงพ่อสุขได้มีอาการอาพาธเป็นโรคริดสีดวงทวารมาเป็นระยะเวลาแรมปี ประกอบกับในระยะหลังมีโรคลำไส้แทรกซ้อนขึ้นมาอีก แม้จะได้รับการดูแลจากหมอชอน พวงมาลัย เป็นอย่างดี แต่ดูเหมือนอาการของท่านไม่ดีขึ้น คณะศิษย์จึงนำท่านเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลจังหวัดเพชรบุรี แต่ก็สุดความสามารถและวิสัยของแพทย์ผู้รักษา คณะแพทย์ได้ลงความเห็นว่า ท่านเป็นโรคมะเร็งเนื้องอกปิดท่อทางเดินอุจจาระ ยากต่อการรักษาให้หายขาดได้ ท่านเองก็ทราบดีในอาการของโรคร้าย เมื่อถึงตอนละสังขารท่านให้หมอชอน พวงมาลัย ตลอดจนคณะศิษย์นำท่านกลับมาวัดบันไดทอง จวบจนกระทั่งวันที่ 9 ตุลาคาม พ.ศ. 2518 เวลาก 11.45 น. หลวงพ่อสุขจึงได้มรณภาพลง สิริอายุได้ 77 ปี พรรษาที่ 54

ทั้งนี้ในช่วงที่หลวงพ่อสุขเป็นเจ้าอาวาสวัดบันไดทอง ท่านได้สร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นไว้หลายรุ่น อาทิ 1 เหรียญพระพุทธหลังยันต์ เนื้ออัลปาก้า 2 เหรียญรูปเหมือนตัวท่าน ทรงรูปไข่ครึ่งองค์ พ.ศ. 2496 มีเนื้อเงินลงยา เนื้อทองแดง 3 เหรียญรูปเหมือน รุ่น2 พ.ศ. 2502 ฯลฯ เป็นต้น

Leave Comment
ค้นหา
close(x)
close(x)
close(x)