เหรียญปั๊มหลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง รุ่นแรก พ.ศ. 2497

05/11/2019 Admin

#อำเภอบ้านลาด

#เหรียญปั๊มหลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง รุ่นแรก พ.ศ. 2497

#วัดหนองกาทอง

ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านหนองกาทอง ตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ประวัติความเป็นมาของวัดไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นมาเมื่อใด แต่จากบัญชีวัดแผนกศึกษาธิการ อำเภอบ้านลาด ระบุว่า วัดหนองกาทองได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2471 สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนหลักฐานที่เหลืออยู่นั้นล้วนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด

วัดแห่งนี้จัดได้ว่าเป็นวัดเก่าแก่ซึ่งเกิดในสมัยก่อนที่จะมีวัด 3 วัดนี้เกิดขึ้นคือวัดโรงเข้,วัดเขาน้อย,วัดหนองกาทอง ส่วนตำนานที่เกี่ยวข้องหรือความเชื่อเพราะในสมัยก่อนมีกาอยู่ในหนองน้ำด้านหลังวัด

ส่วนลักษณะที่โดดเด่นของสถานที่คือโบราณวัตถุคือพระพุทธรูปในวิหาร ส่วนคนที่ใช้ก็จะเป็นชาวบ้านในเขตหรือบริเวณตำบลโรงเข้และชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง

พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีปูนปั้นประดับเครื่องถ้วยชาม (จีน) ด้านล่างเขียนลวดลายประจำยาม ด้วยสีดำ

ด้านหน้าวิหารมีแท่นก่ออิฐ ย่อมุมไม้สิบสอง อาจเป็นแท่นพระ ปัจจุบันมีพระพุทธรูปสมัยปัจจุบันประดิษฐานไว้

‘หอระฆัง’ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงจตุรมุข มีบันไดทางขึ้น ๔ ด้าน หน้าบันไดทำเป็นมุขยื่นออกไป เป็นที่ตั้งประติมากรรมรูปยักษ์ทั้งสี่ทิศ ซุ้มทั้งสี่ทิศเป็นซุ้มยอดแหลม ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ส่วนหลังคาทำเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันขึ้นไป ส่วนยอดแหลมสูง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเช่นเดียวกัน

‘พระประธาน’ ในอุโบสถหลังใหม่ เป็นพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย ขนาดใหญ่ สำหรับเสมาของอุโบสถหลังใหม่เป็นทรงสี่เหลี่ยม แบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4

#หลวงพ่อม่วง วัดหนองกาทอง หรือ พระครูวิธานวชิรคุณ นามเดิม ม่วง นามสกุล อยู่พรหมชาติ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2430 ณ บ้านหนองกระปุก อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี อุปนิสัยของหลวงพ่อม่วงท่านเป็นคนพูดจริงทำจริงมีใจที่เด็ดเดี่ยว ไม่ชอบทำอะไรที่ฝืนธรรมคติและผิดศิลธรรม ด้วยเหตุอันเป็นอุปนิสัยของท่านนี้เอง ท่านจึงได้ตัดสินใจออกจากบ้านมาอยู่กับหลวงพ่อจ้อยที่วัดหนองกาทอง ขณะที่พำนักอยู่ที่วัด ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านหนังสือไทยและหนังสือใหญ่ ตลอดจนวิชาการแขนงต่างๆ พร้อมกับศึกษาสมถกรรมฐานไปด้วย ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณร จึงเดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมในสำนักพระอธิการพลับ วัดวังบัว และพระครูสุชาตเมธาจารย์ (กุน) ซึ่งในขณะนั้นยังจำพรรษาอยู่ที่วัดวังบัว

ครั้นอายุใกล้ครบที่จะอุปสมบทก็ได้ทำการลาสิกขาจากสามเณร แล้วจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ หลังจากที่ท่านอุปสมบทแล้ว ได้เดินทางไปศึกษาวิชาเพิ่มเติมจากสำนักหลวงพ่อชู วัดโพธิ์เรียง อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี และพระครูสุชาตมาธาจารย์ (กุน) วัดพระพุทธไสยาสน์อีกครั้ง กาลต่อมาใน พ.ศ. 2456 หลวงพ่อจ้อย เจ้าอาวาสวัดหนองกาทอง ผู้เป็นอาจารย์ของท่านได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์ตลอดจนทายกทายิกาชาวตำบลโรงเข้ จึงได้พร้อมใจกันเชิญหลวงพ่อม่วงขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา

ในยุคที่หลวงพ่อม่วงปกครองวัดหนองกาทอง ท่านได้พัฒนา ก่อสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถ่างๆ ภายในวัดจนมีความเจริญขึ้นตามลำดับ จนถึง พ.ศ. 2497 ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูวิธานวชิรคุณ” ในการแต่งตั้งครั้งนี้ บรรดาคณะศิษย์ของท่านได้ขออนุญาตหลวงพ่อม่วงจัดสร้างเหรียญรูปเหมือนที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์ขึ้นด้วย ท่านไม่ได้ขัดศรัทธาของเหล่าคณะศิษย์ จึงถือได้ว่าเป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อม่วงครึ่งองค์มีอักษรระบุ “พระครูวิธานวชิรคุณ วัดหนองกาทอง อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ๒๔๙๗” ด้านหลังเป็นอักขระยันต์ 6 แถว มีเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง และ เนื้อทองแดง ว่ากันว่าสร้างเพียง 2000 เหรียญเท่านั้น

เล่ากันว่า เมื่อครั้งที่หลวงพ่อม่วงทำการปลุกเสกเหรียญปั๊มรูปเหมือนนี้ มีชาวบ้านได้ไปร่วมในพิธีขณะที่หลวงพ่อม่วงปลุกเสกเหรียญในอุโบสถนั้น ได้เห็นแสงสีทองปรากฏจากร่างของหลวงพ่อม่วงสว่างไปทั่วอุโบสถ และตัวของหลวงพ่อม่วงค่อยๆ ลอยขึ้น ท่ามกลางสายตาของผู้ร่วมในพิธีปลุกเสก

ส่วนในเรื่องของพุทธคุณแห่งเหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อม่วงรุ่นแรกนี้ มีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง มีนักเลงท้องถิ่นอำเภอบ้านลาด บ้างว่าเป็นมือปืน ถูกคนร้ายดักยิงแต่ยิงไม่เข้า คนร้ายจึงได้ใช้ขวานที่พกติดตัวมาด้วย จามไปที่ลำตัวของนักเลงท่านั้น แต่ก็ไม่ระคายผิว จนคนร้ายตัดใจใช้ขวานจามไปที่ศีรษะของนักเลงคนนั้นอย่างไม่ยั้ง จนนักเลงท่านนั้นเสียชีวิต แต่ที่แปลกประหลาดหามีเลือดออกแม้แต่หยดเดียว แต่กะโหลกศีรษะแตกละเอียดโดยที่ผิวหนังไม่ระคานระเคืองแต่อย่างใด

และยังมีกล่าวถึงบางเสี้ยวของประวัติหลวงพ่อม่วงไว้ว่า ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อกุน วัดพระนอน ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาตะกรุดไมยราพสะกดทัพและวิชาคงกระพันชาตรีต่างๆ

หลวงพ่อม่วงท่านมรณภาพบนธรรมาสน์ภายหลังเทศน์จบแล้ว เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2509 สิริอายุได้ 79 ปี พรรษาที่ 59 ครั้งถึง พ.ศ. 2511 จึงได้มีการจัดงานพระราชทานเพลิงศพ

#ขอขอบคุณข้อมูลจาก “หนังสือพระเครื่องเมืองเพชร”

#ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Facebook “มุมพระเครื่อง”

Leave Comment
ค้นหา
close(x)
close(x)
close(x)