#อำเภอเมืองเพชรบุรี
#เหรียญปั๊มหลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร รุ่นแรก พ.ศ. 2496
#วัดพรหมวิหาร
ตั้งอยู่ ถนนพงษ์สุริยา ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ 85 ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือจดทางรถไฟ ทิศใต้จดถนนพงษ์สุริยา ทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน และ ทิศตะวันออก จดวัดไตรโลก อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2484 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ.2484 เป็นอาคารอนกรีตเสริมเหล็ก
หอสวดมนต์ สร้างเมื่อ พ.ศ.2500 กุฏิสงฆ์ จำนวน 8 หลัง เป็นอาคารไม้ วิหารสร้างเมื่อ พ.ศ.2543 หอฉัน หอระฆัง มณฑป เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ทรงโบราณ 2 ชั้น วัดพรหมวิหาร ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2484 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาพ.ศ.2484
เจ้าอาวาสที่ปกครองที่บันทึกประวัติได้ มีดังนี้
1. หลวงพ่อแย้ม
2. พระครูพรหมวิหารธรรม พ.ศ.2484 – 2514
3. พระอธิการถวิล พ.ศ. 2514 – 2528
4. พระอธิการประยูร พ.ศ. 2529 – 2540
5. พระอธิการสุชาติ อติชาโต
6. พระครูวชิรวิหารธรรม (หลวงพ่อเปี๊ยก)
#พระครูพรหมวิหารธรรม นามเดิม บุศย์ นามสกุล พริ้งจำรัส เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 ชาติภูมิเดิมอยู่ที่บ้านป่าขวาง ตำบลช่องสะแก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรของนายพริ้ง และนางดี พริ้งจำรัส ด.ช. บุศย์เป็นลูกคนโต
มีพี่น้องร่วมสายโลหิต 7 คน คือ
1. พระครูพรหมวิหารธรรม (บุศย์)
2. นายผัน พริ้งจำรัส
3. นางสาวผิน พริ้งจำรัส
4. นางพวง พริ้งจำรัส
5. นายโผน พริ้งจำรัส
6. พระใบฎีกาเวียน พริ้งจำรัส
7. นายพงษ์ พริ้งจำรัส
8. นายพันธุ์ พริ้งจำรัส
ในวัยเด็กท่านได้ศึกษาเล่าเรียนจากสำนักวัดใหญ่สุวรรณาราม มีความรู้หนังสือไทยอ่านออกเขียนได้อย่างชำนิชำนาญ เมื่ออายุครบอุปสมบทได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2454 ณ พัทธสีมาวัดใหญ่สุวรรณาราม มีพระครูมหาวิหาราภิรักษ์(พุก) วัดใหญ่สุวรรณารามเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพุ่ม วัดลาด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการชม วัดสิงห์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปุญฺญมาโค” หลวงพ่อบุศย์เป็นผู้ภิกษุผู้รู้ในพระปาติโมกข์จนท่องจำได้อย่างแม่นยำและมีความรู้พิเศษทางเจริญสมณธรรม พระกรรมฐานธรรมเป็นยิ่งนัก
ต่อมาเมื่อพระอาจารย์แย้ม เจ้าอาวาสวัดพรหมวิหาร ได้ถึงแก่มรณภาพ พระบุศย์ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพรหมวิหาร ใน พ.ศ. 2457 ดำรงค์ตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสได้ 2 ปี ต่อมา พ.ศ. 2459 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ปี 2465 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดใหญ่สุวรรณาราม ต่อมา พ.ศ. 2503 ได้รับการตั้งแต่งเป็นพระครูสังฆรักษ์ ฐานานุกรมในพระราชสุวรรณมุนี (ผัน) เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี วัดมหาธาตุวรวิหาร และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นตรี ที่ “พระครูพรหมวิหารธรรม” เมื่อ พ.ศ. 2506 ตามลำดับ
#ในช่วงปัจฉิมวัยนับตั้งแต่เดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2513 ท่านเริ่มมีอาการอาพาธแต่ไม่รุนแรงนัก โดยรักษาตัวอยู่ที่วัด กระทั่งถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2514 จึงได้นำท่านไปรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเพชรบุรี (ตึกสงฆ์) จนวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 ท่านจึงได้มรณภาพที่กุฏิสงฆ์ วัดพรหมวิหาร สิริอายุได้ 81 ปี พรรษา 60 คณะศิษย์ได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพ ในวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2515 ณ วัดพรหมวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
#คติธรรมของหลวงพ่อบุศย์ มีดังนี้ “มีของดี อย่าหนีความชั่ว ดีคุ้มตัวเพราะความชั่วไม่มี”
#ในด้านวัตถุมงคล หลวงพ่อบุศย์ท่านได้สร้างเหรียญรูปเหมือน รุ่นแรก พ.ศ. 2496 ลํกษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อบุศย์ครึ่งองค์ มีอักษรระบุ “หลวงพ่อบุตร์ วัดพรหมวิหาร พ.ศ. 96” ล้อมรอบ ด้านหลังเป็นยันต์พระเจ้า 5 องค์มีอยู่ด้วยกัน 2 บล็อก เรียกว่าพิมพ์ยันต์ใหญ่ และพิมพ์ยันต์เล็ก
#มีเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียว