เหรียญปั๊มหลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย รุ่นแรก พ.ศ. 2504

08/11/2019 Admin

#อำเภอชะอำ

#เหรียญปั๊มหลวงทัย วัดไทรย้อย รุ่นแรก พ.ศ. 2504

#วัดไทรย้อย

ตั้งอยู่เลขที่ 1056 บ้านบางไทรย้อย ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 34 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 10490 ทิศใต้จดเขตพระรามนิเวศน์มฤคทายวัน ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 8 เมตร ยาว 35 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2514 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิสงฆ์ ครึ่งตึกครึ่งไม้ 1 หลัง ศาลาบำเพ็ญจำนวน 1 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมไม้ 1 หลัง นอกจากนี้มี โรงครัว และศาลาปฏิบัตธรรม ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ ขนาดหน้าตักกว้าง 2.15 นิ้ว รอยพระพุทธบาท กว้าง 22 เซนติเมตร กว้าง 22 เซนติเมตร ยาว 1.30 เมตร สมบัติของวัติมี ธรรมาสเทศน์
วัดไทรย้อย ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2452 โดยชาวบ้านจิตศรัทธาสร้างขึ้น มีหลวงพ่อเล็ก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในปี พ.ศ. 2506 พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาที่พระอุโบสถแห่งนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2528 เขตวิสุงสีมา กว้าง 8 เมตร ยาว 35 เมตร
การบริหาร และการปกครอง มีเจ้าอาวาส เท่าที่ทราบนามคือ รูปที่ 1 พระเล็ก อินทวัณโณ พ.ศ 2457 – 2470 รูปที่ 2 พระครูวชิรคุณารักษ์ พ.ศ. 2471 – 2519 รูปที่ 3 พระอธิการทองเจือ ปัญญาสิริ พ.ศ. 2519 – 2522 รูปที่ 4 พระอธิการบุญธม นิรโต พ.ศ. 2523 – 2525 รูปที่ 5 พระครูอากรวัชรธรรม (ทำเนียบ)พ.ศ. 2527 – ปัจจุบัน

โบสถ์เก่าวัดบางไทรย้อย ปูชนียสถานสำคัญของชาติ
วัดไทรย้อย เป็นวัดเก่าแก่ในเขตชุมชนบางไทรย้อย ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีอาณาบริเวณกว้างขวางและติดทะเล ตั้งอยู่ห่างจากเทศบาลเมืองชะอำไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร
วัดไทรย้อย เดิมใช้ชื่อวัดบางควาย ต่อมาท่านพระครูวชิรคุณารักษ์(ทัย) อดีตเจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไทรย้อย” เนื่องจากบริเวณวัดด้านทิศเหนือเดิมมีต้นไทรใหญ่อยู่ริมหาด แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง มีรากไทรย้อยลงมามากมาย
เนื่องจากวัดไทรย้อยมีพระอุโบสถไม้สักเก่า สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ริมชายหาด พระอุโบสถหลังนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยเสด็จขึ้นนมัสการพระประธานภายในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2505

พระอุโบสถหลังดังกล่าว พระครูอากรวัชรธรรม (ทำเนียบ) เจ้าอาวาสวัดไทรย้อยองค์ปัจจุบัน ได้ร่วมกับชาวบ้าน ช่วยกันบูรณะ เมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งระหว่างบูรณะ มีการร่ำลือว่าโบสถ์หลังนี้ หากใครได้ลอดครบ 9 รอบ จะหายจากอาการปวดหลัง เจ็บเอว หายจากโรคภัยต่าง ๆ รวมทั้งขอสิ่งใดจะได้สมปรารถนา เสียงเล่าอ้างดังกล่าว ทำให้มีประชาชนจากชุมชนบางไทรย้อยและใกล้เคียง รวมทั้งคนที่มาจากจังหวัดต่างๆ ที่ทราบข่าว ได้พากันมาลอดเป็นจำนวนมาก

ขณะนี้ พระอุโบสถได้บูรณะจนเสร็จสมบูรณ์สวยงาม โดยได้มีการทำช่องใต้อุโบสถ สำหรับผู้ที่จะมาอธิฐานและลอด
ด้วยการที่พระอุโบสถนี้มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญ และประชาชนมีความเชื่อศรัทรา จึงทำให้พระอุโบสถเก่าแห่งวัดไทรย้อย เป็นปูชนียสถานที่สำคัญ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ของชาติ

#หลวงพ่อทัย วัดไทรย้อย หรือ พระครูวชิรคุณารักษ์ เดิมชื่อ พริกไทย นามสกุล หมื่นชำนาญป่า เกิดเมื่อวันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2439 บ้านเดิมอยู่ บ้านทับใต้ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่อำเภอหัวหิน (ห้วยมงคลในปัจจุบัน) หลวงพ่อเป็นพี่ชายของหลวงพ่อปลั่ง วัดห้วยมงคล เจ้าอาวาสองค์แรกผู้สร้างวัด ในวัยหนุ่มหลวงพ่อได้รับราชการเป็นตำรวจ เมื่อเข้าสู่อายุครบบวชก็ได้บวชกับหลวงพ่อนาควัดหัวหิน ที่วัดหัวหิน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 สมัยก่อนบ้านเมืองยังไม่ใหญ่โต ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองวัดในหัวหินมีแค่ในหัวหินที่เดียว เข้าใจว่าการรับราชการสมัยก่อนใครพออ่านออกเขียนได้ก็ให้รับราชการ เรื่องเบี้ยเลี้ยงเงินเดือนไม่ได้เป็นระบบเหมือนในสมัยนี้ จึงไม่ได้ทำให้เกิดความจูงใจมากนัก หลวงพ่อจึงบวชเรียนอยู่กับหลวงพ่อนาคที่วัดหัวหินอยู่นานหลายปี

ในราวๆ พ.ศ. 2400 หมู่บ้านบางควายเริ่มมีการตั้งถิ่นฐาน กันอยู่บ้างอย่างเบาบาง ด้วยเป็นเส้นทางการค้าขายระหว่างเพชรบุรี-หัวหิน-ปราณฯ จุดที่ตั้งของบ้านบางควายมีน้ำจืด และเป็นช่องเขาที่ลงมาจากป่าทิศตะวันตกด้วย จึงเป็นจุดนัดพบสำคัญแห่งหนึ่งในเส้นทางสายนี้ จนราวๆ พ.ศ. 2450 หมู่บ้านเริ่มมีความหนาแน่นขึ้น ชาวบ้านมักนิยมไปทำบุญกันแต่วัดที่ใกล้เคียงในเวลานั้นมีแค่วัดโตนดหลวงกับวัดหัวหิน พอถึงวันพระใหญ่ก็จะมีขบวนเกวียนชาวบ้านไปทำบุญกันที่วัดหัวหิน

เมื่อนานวันเข้าชาวบ้านจึงได้อาราธนากับหลวงพ่อนาคว่าให้ส่งพระจากวัดหัวหินมาอยู่ที่หมู่บ้านบางควายบ้าง จะได้อนุเคราะห์ญาติโยมในการทำบุญ ในเบื้องต้นหลวงพ่อนาคได้ส่งหลวงพ่อเล็กกับพระอีก 3-4 รูปมาอยู่เป็นชุดแรก โดยหลวงพ่อเล็กเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ของวัดบางควาย(ไทรย้อย)ในปี พ.ศ.2457 และในราวปี 2460 หลวงพ่อนาคจึงได้ส่งหลวงพ่อทัยมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบางควาย(ไทรย้อย) ต่อมาในปี พ.ศ.2471หลวงพ่อเล็กก็มรณะภาพ หลวงพ่อทัยจึงได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน จริงๆวัดก็ยังเล็กมากนักไม่มีอะไร แต่ในราว2470 ก็ได้จัดงานผูกพัทสีมาอุโบสถหลังแรก เป็นอุโบสถไม้สักทั้งหลัง อยู่ติดทะเลบางควายมานานกว่า 80 ปีแล้ว ไม่น่าเชื่อจนบัดนี้ว่าจะยังไม่ล่มสลาย เพิ่งจะได้รับการบูรณะเมื่อปี 2551-52 นี่เอง ก่อนหน้านี้ไม่มีใครสนใจกันเลย แล้วชาวประมงก็มาอาศัยใช้งานอยู่เป็นสิบๆปี แต่ก็ไม่ผุพัง แม้แต่วังมฤคฯ ที่อยู่ใกล้ๆกันก็พังไปเกือบครึ่งแล้ว

ท่านชอบให้พระที่มาบวชในพรรษาเรียนหนังสือเพื่อสอบนักธรรม และจะสอนเอง

เรื่องวัตถุมงคลนั้น ท่านไม่ได้ให้คนหมกหมุ่นมากนัก ท่านมีชื่อเสียงจากปลัดขิก

ในหนังสือประวัติตอนงานพระราชทานเพลิงของท่านได้ปรากฏว่าท่านเรียนวิชานี้มาจากโยมบ้านสวนกล้วย (ทุกวันนี้เรายังสืบไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน) กับที่วัดโคกหลายคนบอกว่าปลัดขิกมักจะวิ่งอยู่ในบาตร ใครจับได้จับเอา มักทำตัวเล็กๆจิ๋วๆ ทำจากไม้กัลปังหงา สีดำ แต่ตัวใหญ่ ยาวๆ นั้น โดยมากก็จะเหลากันมาเอง แล้วหลวงพ่อจะลงอักขระให้ ทุกวันนี้ยังมีภาพหลวงพ่อจารปลัดขิกขณะอยู่ในมุ้งด้วย ภาพนี้เทศบาลเมืองชะอำได้นำไปทำปฏิทินแจกชาวบ้านมาหลายปีแล้ว ไม่พอแจก ยังมีภาพนี้ปรากฏให้ชมอยู่ที่วัด คู่กับภาพในหลวงและสมเด็จฯ มาเยี่ยมวัดไทรย้อย จริงๆแล้วเท่าที่สอบถามสืบความได้ว่าในหลวงเสด็จมาที่วัด 4 ครั้ง

ทั้งมากราบหลวงพ่อทัยและมาเยี่ยมราษฎรด้วย ในระหว่าง ปี 2497 – 2516

ในครั้งสุดท้ายในหลวงถวายปัจจัยไว้ส่วนหนึ่ง หลวงพ่อทัยท่านก็ได้นำเงินนั้นมาเป็นปัจจัยสร้างฐานอุโบสถหลังปัจจุบัน โบสถ์วัดไทรย้อยหลังปัจจุบันจึงถือว่าเป็นเงินพระราชทานอีกด้วย

เรื่องปลัดขิกนี่จะมีช่างของวัดเหลาอยู่ 2- 3 ฝีมือ ให้ดูที่หัวยาว 1 ส่วนและตัวยาว 3 ส่วน เป็น4 ส่วน ตามสูตร นอกนั้นต่างเหลาถือกันมาให้หลวงพ่อลงให้ทั้งนั้น

เรื่องประสบการณ์คงไม่พูดมากให้ลองสอบถามกันเอาเอง แต่เด่นที่แคล้วคลาด เมตตามหานิยม ไม่ค่อยได้ยินเรื่องมหาอุดหยุดลูกปืน มีแต่รถพังยับตายยกคันแต่มีปลัดไม่ตาย ในช่วงหลังปี 2505 มีทหารเรือจากสัตหีบและบางนามาเป็นลูกศิษย์กันมาก บางคนว่าหลวงพ่ออี๋ในมาหาดู ประมาณว่าหลวงพ่ออี๋บอกยกย่องไว้ก่อนมรณภาพ

ปี 2504 ท่านได้สมณศักดิ์ที่พระครูวชิรคุณารักษ์ จึงได้ทำเหรียญรูปเหมือนท่านครึ่งองค์ จำนวนเหรียญไม่ทราบแน่ชัดว่าเท่าไหร่ แต่ไม่น่าจะเกิน 2000 เหรียญ

ท่านก็ไม่ได้แจกมากนัก เหมือนว่าใครขอก็จะให้ เพราะปรากฏที่กุฏิหลังมรณภาพว่ายังมีเหลืออยู่ โดยท่านจะร้อยใส่ไว้ในสายลวด แต่ไม่ถึง 500 องค์ เหรียญของท่านจะมีเนื้อเดียวคือเนื้อทองแดง จะมีผิว 2 อย่างคือผิวกะไหล่เงิน กับผิวเดิมไม่มีกะไหล่และไม่ได้รมดำ ท่านสร้างเหรียญรุ่นนี้รุ่นเดียวแล้วก็ไม่ได้สร้างรุ่นไหนอีก แต่ก็มีพระเนื้อผงว่านและดินเผาอยู่บ้างแต่ไม่มาก แจกคนมาทำบุญ เป็นพระนางพญาบ้าง พระขุนผนบ้าง นางกวักบ้าง กับมารูปถ่ายท่านแจกบ้างเหมือนกัน หลวงพ่อทัยท่านมีชื่อเสียงอยู่แต่ในแถบชะอำ-หัวหิน เท่านั้นครับ คนเรือจะรักท่านมาก

หลวงพ่อทัยปกครองวัดไทรย้อย เรื่อยมาตั้งแต่ ปี2471 ถึงปี 2519 ก็มรณภาพ ด้วยโรคตับแข็ง เมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2519 สิริอายุ 80 ปี ตำแหน่งสุดท้ายท่านเป็นพระอุปัชฌาย์และเจ้าคณะตำบลชะอำ

#ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก facebook “ศรัทธา เมืองเพ็ชร์ – เกจิสายเพชรบุรี”

#แหล่งรวบรวมข้อมูลพระหัววัดเพชรบุรี www.thaipra.net😍😍😍

Leave Comment
ค้นหา
close(x)
close(x)
close(x)