#อำเภอบ้านแหลม
#เหรียญปั๊มหลวงพ่อถนอม วัดปากลัด รุ่นแรก พ.ศ. 2516
#วัดปากลัด
เป็นวัดแรกในตำบลบางตะบูน มีพระพุทธปัญจภาคีวารี ปาฏิหาร์ย หลวงพ่อลอยน้ำ 5 พี่น้อง เป็นที่สักการะบูชาของชาวบางตะบูน ศิลปะเด่น คือ สถาปัตยกรรมไทยในการก่อสร้างศาลาการเปรียญและศาลาบำเพ็ญกุศล ใช้เสาไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1.30 ม. ยังมีศาลาท่าน้ำที่สวยงามเหมาะกับการนั่งชมวิวทิวทัศน์ดูวิถีชีวิตของชาวบ้านบางตะบูน
ประวัติการสร้างวัดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ภายในวัดมีพระพุทธรูปบูชาสมัยอยุธยา ก็น่าจะเป็นวัดที่สร้างมาแต่สมัยนั้น ชาวบ้านในละแวกนี้ศรัทธาองค์พระประธานในโบสถ์ของวัดปากลัดก็มาสักการะนมัสการเป็นประจำ ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้มีโจรเข้ามาลักพระในโบสถ์ไป ทางวัดจึงต้องปิดโบสถ์เอาไว้เปิดเฉพาะเมื่อมีงานเท่านั้น ประกอบกับทางวัดได้สร้างวิหารหลวงพ่อ 5 พี่น้องขึ้นมาเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นพระ 5 พี่น้อง ที่ลอยมาขึ้นฝั่งที่วัดต่างๆ ตามตำนานที่เล่าขานต่อกันมาได้แก่ วัดไร่ขิง วัดบางพลี วัดโสธร วัดเพชรสมุทร และวัดเขาตะเครา (ตำนานนี้ชาวสมุทรปราการและฉะเชิงเทราเชื่อว่ามีเพียง 3 องค์ได้แก่ หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อโตวัดบางพลี และหลวงพ่อวัดเพชรสมุทร)
มณฑปรหลวงพ่อ 5 พี่น้อง เป็นมณฑปที่สร้างขึ้นมาใหม่ นับเป็นเสนาสนะที่สวยที่สุดของวัดปากลัดในยามนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการสร้างมณฑปหลังนี้ ทางวัดก็ไม่ได้เปิดโบสถ์ให้เข้ามาไหว้พระได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว เนื่องด้วยพระบูชาในโบสถ์เพิ่งจะหายไปด้วยฝีมือของโจรใจบาป
วิหารทรงจตุรมุขที่ใช้หลังคาสีแดงตามแบบนิยมของการสร้างวัด ประดับด้วยช่อฟ้าสีทองอร่ามส่องแสงประกายแวววับยามต้องแดด ป้ายด้านหน้า เขียนว่ามณฑปหลวงพ่อ 5 พี่น้อง บานประตูเปิดปิดได้ไม่สูงมากนักสำหรับกันสุนัขขึ้นไปบนมณฑป
เอกลักษณ์ของวัดในเมืองเพชรบุรีเห็นจะไม่พ้นผลงานช่างปูนปั้นอันปราณีตงดงาม ไม่จะเป็นมณฑปขนาดไม่ใหญ่มากนักแต่ก็ยังมีพื้นที่มากเพียงพอที่จะแสดงผลงานปูนปั้นอันเลื่องชื่อออกมาได้อย่างสวยงามทั้ง 4 ด้าน
หลวงพ่อ 5 พี่น้อง ภายในมณฑปประดิษฐาน พระประธานปางมารวิชัยบนฐานชุกชีปูนปั้นลวดลายรอบฐานตระการตา ตรงกลางของมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูป 5 พี่น้องจำลอง ได้แก่ หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อโตวัดบางพลี และหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา ตามความเชื่อในตำนานพระพุทธรูปลอยมาตามแม่น้ำ 5 สาย ของชาวเพชรบุรีและสมุทรสงคราม ส่วนด้านหน้าสุดเป็นรูปอดีตเจ้าอาวาส (หลวงพ่อถนอม)
ศาลาอภิธรรม เป็นอาคารสีขาวขนาดใหญ่เด่นตระหง่านสะดุดตา อยู่ตรงทางโค้งก่อนที่จะไปขึ้นสะพานสูงข้ามลำน้ำบางตะบูน ด้วยความที่วัดปากลัดเป็นวัดที่ไม่ใหญ่โตนัก มีเสนาสนะเท่าที่จำเป็น แม้แต่กำแพงก็ไม่มี จึงมองเห็นบริเวณภายในวัดได้ตั้งแต่อยู่บนถนน ถึงแม้ว่าศาลาอภิธรรมคือสถานที่ฌาปนกิจ แต่ก็ยังสร้างได้อย่างปราณีตไม่ทิ้งฝีมือช่างเมืองเพชร
#หลวงพ่อถนอม วัดปากลัด หรือ พระครูวชิรกิจโกศล นามเดิม ถนอม นามสกุล สำเภาทอง เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2449 ที่บ้านปากคลองมอญ ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในวัยเด็กเมื่ออายุ 11 ปี โยมบิดานำไปฝากให้อยู่กับพระอธิการกาง วัดปากลัด เพื่อเรียนหนังสือ ต่อมา พ.ศ. 2465 ทางวัดปากลัดจึงตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้น ได้เข้าเป็นนักเรียนจนจบชั้นประถม 3 จนอายุ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2569 มีเจ้าอธิการอ่อน วัดท้ายตลาด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอโศกธรรมสาร (โสก) วัดปากคลอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการกาง วัดปากลัด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ทายโก”
เมื่อเป็นพระภิกษุแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดปากลัด ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติพระธรรมวินัย และฝึกท่องบทสวดต่างๆ ได้ชำนาญถึงขนาดสวดพระปาติโมกข์ได ทั้งยังเป็นพระนักเทศน์ที่มีน้ำเสียงไพเราะมาก ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน จนถึง พ.ศ. 2473 พระอธิการกางได้มรณภาพลง พระครูเพชโรปมคุณ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี จึงได้แต่งตั้งให้พระถนอมเป็นเจ้าอาวาสวัดปากลัด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2507 ท่านได้รับภาระดูแลคณะสงฆ์เป็นเจ้าคณะตำบลบางตะบูน จนถึง พ.ศ. 2510 จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูวชิรกิจโกศล”
หลวงพ่อถนอมได้ร่ำเรียนวิทยาคมจากพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงของเมืองเพชรบุรีอยู่หลายรูป อาทิ พระเทพวงศาจารย์ วัดยาง พระครูอโศกธรรมสาร วัดปากคลอง พระครูวชิรธรรมโศภิต วัดปากคลอง และอาจารย์ตึก นิลสลับ บ้านคลองลัด ท่านเริ่มสร้างวัตถุมงคลขึ้นครั้งแรกเป็นพระพิมพ์เนื้อผงเมื่อประมาณ พ.ศ. 2510 มีพิมพ์สมเด็จ พระนางพญา พระลีลา พระรอด รูปเหมือนหลวงพ่อวัดเขาตะเครา รูปเหมือนหลวงพ่อวัดบ้านแหลม และนางกวัก เป็นต้น ใน พ.ศ. 2516 ท่านได้สร้างเหรียญรูปเหมือนตัวท่านขึ้น เป็นทรงรูปไข่ มีขนาดใหญ่และเล็ก มีเนื้อเงินและทองแดง นอกเหนือจากนี้ยังมีเหรียญล็อกเกต พ.ศ. 2521 เหรียญนพเก้า พ.ศ. 2525 เหรียญรุ่น พ.ศ. 2533 ชุดพระพิมพ์เนื้อผง พ.ศ. 2536 และเหรียญกับล็อกเกตรุ่น พ.ศ. 2539 เป็นต้นพระครูวชิรกิจโกศล ได้ให้ความเคารพนับถือศรัทธาบารมีขององค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 5 พี่น้องมาก ประกอบด้วย หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทร, หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา, หลวงพ่อโสธร วัดโสธร, หลวงพ่อไร่ขิง วัดไร่ขิง และหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน
พระครูวชิรกิจโกศล ได้กราบนมัสการอัญเชิญรูปหล่อจำลองหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์จาก 5 วัด มาประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดปากลัด ครบทั้ง 5 องค์ ในปี พ.ศ.2500 และได้ตั้งชื่อหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดเป็นหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ 5 พี่น้องครั้งแรกในประเทศไทย
ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือนพระครูวชิรกิจโกศลครึ่งองค์ ด้านบนเขียนชื่อ “พระครูวชิรกิจโกศล (ถนอม) อายุ ๖๗ ปี” บริเวณขอบนอกด้านบนเป็นยันต์เมตตา ค้า ขาย แคล้วคลาดปลอดภัย ขอบนอกด้านล่าง เขียนชื่อ “วัดปากลัด บางตะบูน เพชรบุรี พ.ศ. ๒๕๑๖”
ด้านหลังเหรียญ เป็นรูปหล่อหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ 5 พี่น้อง เขียนข้อความใต้พระพุทธรูปทั้ง 5 ว่า “วัดเขา โสธร บางพลี บ้านแหลม ไร่ขิง” บริเวณขอบเหรียญเป็นยันต์เมตตา แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี
ในพิธีปลุกเสกเหรียญรุ่นนี้ มีพระเกจิคณาจารย์สายใต้และสายภาคกลาง ร่วมพิธีพุทธาภิเษก ด้วยพิธีที่เข้มขลัง พุทธคุณเปี่ยมล้น รายได้ทั้งหมดจากการเช่าบูชาได้นำไปสร้างวิหาร เป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธานหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ 5 พี่น้อง และจัดสร้างรูปหล่อพระครูวชิรกิจโกศล (ถนอม ทายโก) ประดิษฐานภายในวัดปากลัดต่อไป
หลวงพ่อถนอมเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงไม่ค่อยปรากฏอาการอาพาธ แต่เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 ท่านได้เดินหกล้มบริเวณกำแพงโบสถ์ในตอนกลางคืน เวลา 02.00 น. เป็นสาเหตุให้ท่านต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลมาโดยตลอดอยู่ถึง 6 ครั้ง แต่อาการก็มีแต่คงที่ ไม่ดีขึ้น จนในที่สุดท่านได้มรณภาพลงด้วยสาเหตุไตวายเรื้อรัง หัวใจวาย เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2541 สิริอายุได้ 91 ปี ครองเพศบรรพชิต 70 พรรษา
#ขอขอบคุณข้อมูลจาก “หนังสือพระเครื่องเมืองเพชร”