#อำเภอเขาย้อย
#เหรียญปั๊มพระพุทธ วัดโพธิ์งาม รุ่นแรก พ.ศ. 2498
#วัดโพธิ์งาม
ชื่อที่ชาวบ้านเรียก วัดโพธิ์ สังกัดมหานิกาย อยู่ในเขตปกครองของคณะสงฆ์ตำบลบางเค็ม อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 147 บ้านบางเค็ม หมู่ 2 ต.บางเค็ม อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี
ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปของวัดเป็นเนินสูง ปกติน้ำไม่ท่วม สภาพสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปมีถนนล้อมรอบวัด ยกเว้นทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ของชาวบ้านและปลูกบ้านอยู่อาศัย วัดโพธิ์งามเดิมเป็นวัดร้างมาก่อน แต่ไม่มีอะไรที่เป็นวัตถุให้เห็นได้เป็นแต่เล่ากันต่อๆมาว่า ต้นโพธิ์คงมีอยู่ก่อนที่ได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ จึงได้ชื่อว่า วัดโพธิ์ อีกอย่างหนึ่งคือ สระน้ำกินน้ำใช้คงมีอยู่ก่อน เพราะในหมู่บ้านบางเค็มมีสระน้ำจืดที่ดื่มได้มีแห่งเดียวเท่านั้น ที่ชาวบ้านใช้ดื่มกันมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ไม่มีใครทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เป็นแต่เล่าว่า หลวงพ่อสังฆ์มาเริ่มสร้างเป็นรูปแรก เดิมหลวงพ่อสังฆ์เป็นชาวจังหวัดสมุทรสงครามอุปสมบทเป็นพระแล้วได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดกุฏิ บางเค็ม ซึ่งอยู่คนละซีกหมู่บ้านกับวัดโพธิ์มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสมากพอสมควร เกิดขัดใจกับใครไม่ประจักษ์ท่านจึงเดินทางกลับสมุทรสงคราม ชาวบ้านทางด้านวัดโพธิ์ บ้านหนองบัว และบ้านกล้วย ได้พากันไปนิมนต์หลวงพ่อสังฆ์มาสร้างวัดใหม่ที่วัดโพธิ์ครั้งแรกก็สร้างอยู่ชั่วคราวอยู่ทางเหนือสุดของที่วัดและต่อมาจึงสร้างถาวรขึ้น และถาวรวัตถุที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่เปลี่ยนแปลง คงรูปทรงเดิมไว้ เริ่มย้ายกุฏิและศาลาการเปรียญเมื่อ พ.ศ. 2480 จากวัดที่มีสภาพทรุดโทรมมาเป็นวัดที่สวยงาม พร้อมกับสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นใหม่คู่กันการสร้างวัด โดยการนำของพระอธิการชื่น ปาสํโส เมื่อสร้างโรงเรียนเสร็จและสอนนักเรียนได้จึงชื่อโรงเรียนเป็นทางการว่า “โรงเรียนวัดโพธิ์”(ชื่นศรีผดุง)และพระอธิการชื่นได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูประสาทนวกิจ เป็นพระครูรูปแรกของวัดโพธิ์และไม่เคยมีพระครูมาก่อนเป็นเกียรติยศแก่วัดโพธิ์ และเมื่อ พ.ศ.2485 ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และสร้างอุโบสถขึ้นมาใหม่และผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ.2494
#หลวงพ่อชื่น วัดโพธิ์งาม หรือ พระครูประสาทนวกิจ เดิมชื่อ ชื่น นามสกุล คุ้มสกุล เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2445 ณ บ้านหนองส้ม ตำบลสระพัง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ชีวิตในวัยเยาว์ท่านได้อยู่ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำนา และเล่าเรียนอ่านเขียนภาษาไทยตามความรู้พื้นฐานเฉกเช่นเด็กทั่วไปในสมัยนั้น เมื่ออายุครบ 21 ปี ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ณ พัทธสีมา วัดหิรัญศรัทธาราช หรือ วัดหนองส้ม เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2466 โดยมีพระครูอ่อน วัดท้ายตลาด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการรอด วัดสระพัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “ปาสํโส” เมื่ออุปสมบทแล้ว ไม่มีหลักฐานการบันทึกไว้ว่าท่านจำพรรษาที่ใด ทราบแต่เพียงว่าท่านเรียนพระปริยัติธรรมจากสำนักเรียนวัดมหาธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท ใน พ.ศ. 2473
ต่อมาในราว พ.ศ. 2473 พระอธิการวัน เจ้าอาวาสวัดโพธิ์งาม ได้ย้ายไปจำพรรษาที่อื่น ตำแหน่งเจ้าอาวาสจึงว่างลง หลวงตาสี วัดสระพัง พร้อมด้วยพระภิกษุอีก 9 รูป ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดโพธิ์งาม โดยหลวงตาสีเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสอยู่ 1 ปี ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ คุณลุงใย เปี่ยมศักดิ์ คณะกรรมการวัดในขณะนั้น จึงไปอาราธนาหลวงพ่อชื่น จากวัดบ้านขลู่ ตำบลธงชัย อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2475 เมื่อท่านได้มาปกครองดูแลที่วัดนี้แล้ว ได้ลงมือสร้างอุโบสถหลังใหม่ ก่ออิฐถือปูนแทนอุโบสถหลังเก่าที่สร้างด้วยไม้ สร้างศาลาการเปรียญ หอฉัน หอสวดมนต์ กุฏิ 9 ห้อง ฌาปนสถาน โรงเรียนวัดโพธิ์ (ชื่นศรีผดุง) และขยายสระน้ำให้มีความจุน้ำได้มากเพียงพอแก่ภิกษุสามเณร ตลอดจนราษฎรได้ใช้อุปโภคบริโภคนับได้ว่าเป็นยุคแห่งการพัฒนาของวัดโพธิ์งาม นับเป็นคุณงามความดีที่ท่านได้สั่งสมไว้ จน พ.ศ. 2500 ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูประสาทนวกิจ”
หลวงพ่อชื่นเป็นพระที่มีตบะและทรงภูมิ มีวิทยาคมแก่กล้า ท่านได้สร้างเหรียญขึ้นไว้เท่าที่สืบทราบมีอยู่ด้วยกัน 3 รุ่น คือ
1 เหรียญพระพุทธทรงสามเหลี่ยม รุ่นแรก พ.ศ. 2498 ด้านหน้าเป็นพระพุทธประทับนั่งสมาธิมีฐานผ้าทิพย์คล้ายกับเหรียญพระพุทธโสธรสองหน้า พ.ศ. 2497 วัดโสธรฯ ฉะเชิงเทรา ด้านหลัง ระบุ “วัดโพธิ์ ต.บังเค็ม อ.เขาย้อย เพ็ชรบุรี ๒๔๙๘”ด้านบนมียันต์อุณาโลม และคาถาว่า “อุด ธัง อัด โธ, นะ โม พุท ธา ยะ” เรียงกัน 3 บรรทัดตามลำดับ เป็นเนื้อทองเหลืองกะไหล่ทอง
2 เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อชื่น รุ่นแรก ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ครึ่งองค์ ด้านล่างระบุ “พระครูประสาทนวกิจ” ด้านหลังเป็นยันต์ห้าหรือพระเจ้าห้าพระองค์ ด้านล่างระบุ “วัดโพธิ์ บางเค็ม ๒๕๐๖” เป็นเนื้อทองแดงรมดำ
3 เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อชื่น รุ่น 2 ลักษณะคล้ายคลึงเหรียญรุ่นแรก เป็นการแกะบล็อกขึ้นใหม่ ด้านหลังเป็นยันต์ห้า ด้านล่างระบุ “วัดโพธิ์ บางเค็ม ๒๕๒๒” เป็นเนื้อทองแดงรมดำ
หลวงพ่อชื่น ได้ถึงแก่มรณภาพลง เมื่อ พ.ศ. 2528 สิริอายุได้ 83 ปี พรรษา 62
#ขอขอบคุณข้อมูลจาก “หนังสือพระเครื่องเมืองเพชร”